กรมทางหลวงออกแบบทางต่างระดับ จุดตัดระหว่าง ทล.23 สายบ้านไผ่-อุบลราชธานี กับถนนวงแหวนรอบเมืองร้อยเอ็ด (แยกบ้านโนนเมือง) เพิ่มศักยภาพโลจิสติกส์ภาคอิสาน เชื่อมโยงการค้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน
กรมทางหลวง โดยสำนักสำรวจและออกแบบ ได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางต่างระดับและทางแยกบนทางหลวง ระหว่างทางหลวงหมายเลข 23 สายบ้านไผ่–อุบลราชธานี(ถนนแจ้งสนิท) กับทางหลวงหมายเลข 232 ถนนวงแหวนรอบเมืองร้อยเอ็ด ในพื้นที่ อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นและติดขัดจากสัญญาณไฟจราจรที่จุดตัดทางแยก เพิ่มศักยภาพระบบขนส่งโลจิสติกส์ภาคอีสาน
สำหรับทางแยกจุดตัดระหว่างทางหลวงหมายเลข 23 สายบ้านไผ่–อุบลราชธานี(ถนนแจ้งสนิท) มีขนาด 4-6 ช่องจราจร กับทางหลวงหมายเลข 232 (ถนนวงแหวนรอบเมืองร้อยเอ็ด) ขนาด 2-4 ช่องจราจร หรือจุดตัดแยกบ้านโนนเมือง ตั้งอยู่ที่ กม. 106+956 (ทล. 23) มีลักษณะเป็นสี่แยกที่มีสัญญาณไฟจราจรควบคุม ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นเส้นทางการจราจรสายหลักในการเดินทางสู่จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม เนื่องจากมีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การจราจรเกิดการติดขัด ประชาชนไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง กรมทางหลวง จึงได้ดำเนินโครงการสำรวจและออกแบบทางต่างระดับระหว่าง จุดตัดทางแยกดังกล่าวให้เป็นระบบวงเวียนเพื่อให้การจราจรเคลื่อนตัวได้อย่างต่อเนื่องและรองรับรถที่ต้องการเลี้ยวขวาได้โดยไม่มีสัญญาณไฟจราจร โดยรายละเอียดรูปแบบทางแยกโครงการมีดังนี้
1.ทางหลวงหมายเลข 23 สามารถวิ่งผ่านทางแยกโดยก่อสร้างเป็นทางลอดขนาดเล็ก เพื่อให้รถขนาดเล็กสัญจรไป-กลับ โดยมีเขตทาง 60 เมตร จากช่วงทางแยกโนนเมืองไปทางจังหวัดมหาสารคาม และมีเขตทาง 30 เมตร จากช่วงทางแยกโนนเมืองไปจังหวัดร้อยเอ็ด มีความยาวของช่วงที่เป็นทางลอด ประมาณ 525 เมตร ความสูงของทางลอด ประมาณ 2.80 เมตรและมีจำนวน 2 ช่องจราจรไป-กลับ
2. ทางหลวงหมายเลข 232 ออกแบบเป็นสะพานยกระดับข้ามทางหลวงหมายเลข 23 มีความยาวสะพาน ประมาณ 460 เมตร ความสูงสะพานเหนือช่วงวงเวียนไม่น้อยกว่า 5.50 เมตร มีเขตทาง 60 เมตร มีจำนวนช่องจราจร 4 ช่องจราจร โดยออกแบบให้เพิ่มเป็น 6 ช่องจราจรได้ในอนาคต และมีจุดกลับรถใต้สะพานทั้ง 2 ด้าน
ลักษณะการก่อสร้าง เป็นถนนแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4-6 ช่องจราจร ความกว้างช่องจราจรละ 3.50 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1.50 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.50 เมตร มีเขตทางกว้าง 40-60 เมตร รวมระยะทาง 2 ทิศทาง ทั้งหมดประมาณ 4 กิโลเมตร งบประมาณโครงการ 600 ล้านบาท ปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) แล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน คาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างประมาณปี พ.ศ.2566 แล้วเสร็จ ปี พ.ศ.2568
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวจะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด แออัด และหนาแน่น ช่วยลดอุบัติเหตุรุนแรงบริเวณทางแยก รวทั้ง พัฒนาคุณภาพการให้บริการเชื่อมเส้นทางระหว่างจังหวัดและต่อเนื่องถนนวงแหวนรอบเมือง ช่วยให้ระบบจราจรเดินทางติดต่อกันได้เป็นระยะทางไกลสู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน
ที่มา:กรมทางหลวง