การ “เสียชีวิต” ที่อาจมีส่วนมาจากการเกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีด “วัคซีนโควิด-19” เป็นอีกเรื่องที่หลายคงยังคงกังวล เนื่องจากนับตั้งแต่เริ่มมีการฉีควัคซีนโควิด-19 ในไทย ก็เริ่มมีข่าวคราวการเสียชีวิตตามมา ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุที่ทางการแพทย์ใช้คำว่า บังเอิญร่วมที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนบ้าง หรือมีสาเหตุมาจากโรคประจำตัวบ้าง
โดยในประเทศไทยเอง ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่า ยังไม่มีคนที่เสียชีวิตด้วยอาการแพ้วัคซีนโควิด-19 แต่อย่างใด “กรุงเทพธุรกิจออนไลน์” จึงรวบรวมเคสที่ปรากฏในข่าว ที่มีการเสียชีวิตหลังจากที่มีการฉีดวัคซีนไปแล้วว่า แต่ละเคสมีข้อสันนิษฐานถึง “สาเหตุการเสียชีวิต” จากอะไรกันบ้าง จึงจัดทำเพื่อเป็นกรณีศึกษาให้เห็นอาการเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เท่านั้น
ทั้งนี้ เคสที่ทีมข่าวทำการรวบรวมมา ถือเป็นเพียงข้อสันนิษฐานทางการแพทย์ที่อาจเกิดขึ้นกับเฉพาะบุคคล โดยไม่อาจสรุปว่า ผู้มีโรคประจำตัวหรือมีพฤติการณ์เดียวกันจะไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ โดยผู้ที่มีข้อสงสัย สามารถปรึกษาแพทย์ก่อนทำการฉีดวัคซีนโควิด-19
เคสที่ 1 : วันที่ 13 มี.ค. 64 จ.สมุทรปราการ ไม่ระบุอาชีพ เพศชาย อายุ 41 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 10 วัน สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจากการแถลงของ สธ. คือ เส้นเลือดในช่องท้องโป่งพองแตก
เคสที่ 2 : วันที่ 1 เม.ย. 64 กรุงเทพฯ พระสงฆ์ เพศชาย อายุ 71 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 1 วัน สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจาก รพ.ตำรวจ คือเส้นเลือดหัวใจตีบ
เคสที่ 3 : วันที่ 14 เม.ย. 64 จ.ตาก พยาบาล เพศหญิง อายุ 57 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 1 สัปดาห์ สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา พบว่าเส้นเลือดหัวใจเส้นใหญ่ตีบ มีรอยโรคของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
เคสที่ 4 : วันที่ 23 เม.ย.64 จ.อ่างทอง พนักงานขาย เพศหญิง อายุ 24 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 วัน สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจากสาธารณสุข จ.อ่างทอง เหตุการณ์ร่วมโดยบังเอิญ อาจเกิดจากอาหารเสริม
เคสที่ 5 : วันที่ 3 พ.ค. 64 จ.ปทุมธานี คนขับรถเอ็กซเรย์ เพศชาย อายุ 51 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 3 วัน สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจากคำให้การของลูกชายผู้เสียชีวิต กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
เคสที่ 6 : วันที่ 7 พ.ค. 64 กรุงเทพฯ ตำรวจ เพศชาย 39 ปี ไม่พบข้อมูลว่าเสียชีวิตหลังวัคซีนนานเท่าใด สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองระบุ ทำงานหนักและเครียด
เคสที่ 7 : วันที่ 17 พ.ค.64 จ.นครราชสีมา ตำรวจ เพศชาย 51 ปี ไม่พบข้อมูลว่าเสียชีวิตหลังวัคซีนนานเท่าใด สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลจาก สภ.บัวใหญ่ คือ ภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและหัวใจโต
เคสที่ 8 : วันที่ 18 พ.ค. 64 จ.แพร่ ผู้ใหญ่บ้าน เพศชาย 46 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 48 ชั่วโมง สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิตรอความชัดเจนจากการชันสูตรอีกครั้ง
เคสที่ 9 : วันที่ 25 พ.ค. 64 จ.พังงา รปภ. เพศชาย 43 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน 2 วัน สันนิษฐานสาเหตุการเสียชีวิต ข้อมูลสาธารณสุข จ.พังงา ระบุกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันรุนแรง
จากข้อมูลข้างต้น พบว่า การสันนิษฐานการเสียชีวิตทั้งหมด ไม่มีกรณีใดที่มีสาเหตุมาจากการแพ้วัคซีนโควิด-19 เลย ทั้งนี้ยังพบว่า 2 กลุ่มสาเหตุที่ส่งผลให้เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ “โรคประจำตัว” ที่ผู้เสียชีวิตมีอยู่เดิม และ “เหตุบังเอิญร่วม” ซึ่งเป็นเหตุบังเอิญที่เกิดขึ้นในห้วงเวลาหลังจากที่ฉีดวัคซีนที่อาจมีส่วนที่ทำให้เสียชีวิต และเกินครึ่งมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน ไทรอยด์เป็นพิษ ฯลฯ อย่างไรก็ตามอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงเหล่านี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
ทั้งนี้“สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “สปสช.” ก็ได้เตรียมจ่าย “เงินเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19” แล้ว โดยเตรียมเงินไว้ 100 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในกรณี “แพ้วัคซีน” ด้วย โดยเบื้องต้นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนสามารถทำได้ดังนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก กรุงเทพธุรกิจ