วันที่ 28 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25)
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน,นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง, นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศปก.ศบค.), นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
รวมถึง พล.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
ที่ประชุมได้มีการหารือการแก้ปัญหาการประกาศกึ่งล็อกดาวน์ 1 เดือน ปิดแคมป์คนงาน และการประกาศมาตรการเข้มข้นใน 10 จงหวัด
ล่าสุดที่ประชุมมีมติ ออกมาตรการเยียวยาลูกจ้างในระบบประกันสังคม 6.9 แสนคน จะมีการชดเชยรายได้ 50% และเพิ่มวงเงินพิเศษให้อีก 2,000 บาท ขณะที่นายจ้างได้รับการเยียวยาจำนวน 3,000 บาท/คน ไม่เกิน 200 คน ส่วนลูกจ้างนอกระบบที่ไม่สามารถประเมินได้ว่ามีจำนวนเท่าใด จะไม่ได้รับการชดเชยรายได้ 50% แต่ยังวงเงินได้ 2,000 บาท
โดยงบประมาณจะมากจาก 2 ส่วน คือ เงินกู้เพื่อการเยียวยาโควิด 4,000 ล้านบาท และเงินจากประกันสังคม 3,500 ล้านบาท
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ