วันที่ 6 ส.ค.64 โฆษกศบศ.เผยนายกฯ รับรู้ความเดือดร้อนของทุกกลุ่มสั่งเยียวยาครอบคลุม 29 จังหวัดสีแดงเข้ม ทุ่ม 60,000 ล้านบาท เยียวยา ม.33 โอนแล้ว 10 จังหวัดเกือบ 2 ล้านราย ย้อน “พิชัย” เลิกหลอกตัวเองว่าเป็นกูรูเศรษฐกิจที่รู้ไปทุกเรื่อง ไม่ใช่หวังพึ่งแต่ม็อบให้กดดันรัฐบาลลาออก
นายธนกร วังบุญคงชนะ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกประจำศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบจากการระบาดของโรคติเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติขยายมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาเร่งด่วนผู้ประกอบการนายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานกลุ่มอาชีพอิสระ และพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการ 9 ประเภท จากการประกาศล็อกดาวน์ยกระดับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) เพิ่มจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด โดยรูปแบบของการเยียวยาจะได้รับเช่นเดียวกับ 13 จังหวัดที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ ซึ่งครม.เห็นชอบขยายวงเงินเยียวยาจาก 30,000 ล้านบาท เป็นประมาณ 60,000 ล้านบาทแล้ว
นายธนกร กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เริ่มทยอยโอนเงินเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ได้รับผลกระทบโควิด-19 ในพื้นที่มาตรการของรัฐให้ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัดแล้ว ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา โดยยอดการโอน 2 วันแรกอยู่ที่ 1,829,387 ราย เป็นเงิน 4,573.47 ล้านบาท ซึ่งในวันที่ 9 สิงหาคมนี้จะเริ่มโอนให้อีก 3 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ประกันตนมาตรา 33 ในระบบประกันสังคมในพื้นที่ 13 จังหวัด แบ่งเป็นนายจ้าง จำนวน 174,896 คนและลูกจ้างจำนวน 3.1 ล้านคน
“ลูกจ้างจะได้รับเงินเยียวยาจำนวน 2,500 บาท และนายจ้างจะได้รับเงินเยียวยา 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างหนึ่งคน แต่ไม่เกิน 200 คน สำหรับในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 และ มาตรา 40 ใน 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยอดผู้ประกันตน มาตรา 39 จำนวน 1.3 ล้านคน และผู้ประกันตน มาตรา 40 จำนวน 4 ล้านคน แต่ที่ยังไม่ชำระเงินงวดแรกประมาณ 7 แสนคน โดยสำนักงานประกันสังคมได้ขยายเวลาให้ชำระภายในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ถึงจะถือว่าการลงทะเบียนสมบูรณ์ได้รับสิทธิ์ โดยคาดว่าจะสามารถโอนเงินเยียวยา 5,000 บาท สำหรับ มาตรา 39 และมาตรา 40 ได้ภายในวันที่ 24 สิงหาคมนี้” นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวว่า ในส่วนของมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาของพื้นที่จังหวัดที่ประกาศล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นอีก 16 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี สมุทรสงคราม สุพรรณบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี อ่างทอง นครนายก ปราจีนบุรี ลพบุรี ระยอง สิงห์บุรี สระบุรี นครราชสีมา เพชรบูรณ์และตาก ซึ่งจะได้รับการเยียวยาเช่นเดียวกับ 13 จังหวัดที่ประกาศมาก่อนหน้านี้ นอกเหนือจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานค่าน้ำ-ค่าไฟที่ใช้แล้วทั่วประเทศ
“เบื้องต้นระยะเวลาการให้ความช่วยเหลือกลุ่ม 13 จังหวัดเดิมจะได้รับเยียวยา 2 เดือนตั้งแต่กรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ส่วนกลุ่ม 16 จังหวัดที่เพิ่มเติมจะได้รับการเยียวยา 1 เดือน(สิงหาคม 2564) ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับรู้ปัญหาของทุกกลุ่ม ไม่ทอดทิ้งอย่างแน่นอน ขอให้ทุกคนอดทนและร่วมฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน ซึ่งจะมีการประชุมหารือหน่วยงานด้านเศรษฐกิจเพื่อพิจารณากฎเกณฑ์และแนวทางช่วยเหลืออื่น ๆ ต่อไป” นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวถึงกรณีนายพิชัย นริพทะพันธ์ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตือนพล.อ.ประยุทธ์ว่าอย่าปล่อยคนไทยตามยถากรรม ต้องหัดมองเศรษฐกิจล่วงหน้าให้เป็นและเร่งแก้ไข หลอกตัวเองไปวัน ๆ มีแต่จะพัง ต้องเร่งหาวัคซีนเอง อย่าหวังพึ่งเอกชน ว่า พล.อ.ประยุทธ์มองคนไทยทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติไทยเดียวกัน แล้วจะปล่อยตามยถากรรมได้อย่างไร ถ้าจะปล่อยก็คงเป็นการปล่อยนายพิชัยให้เรียกร้องคะแนนสงสารจากนายใหญ่ไปตามยถากรรมเสียมากกว่า เพราะยังคงหลอกตัวเองว่าเป็นกูรูเศรษฐกิจที่รู้ไปเสียทุกเรื่อง หัดพึ่งความสามารถตัวเองบ้าง ไม่ใช่หวังพึ่งแต่ม็อบกดดันรัฐบาลให้ลาออกเพียงอย่างเดียว.
ที่มาข่าวจาก สำนักข่าวไทย