นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เตือน 100 วันอันตราย เหตุจำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตจากสายพันธุ์เดลต้าในไทยจะพุ่งสูงขึ้น ชี้ล็อกดาวน์ไม่สามารถหยุดเชื้อได้ ขณะที่บ้านกลับเป็นแหล่งระบาดที่สำคัญที่สุด แนะใช้พรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯงดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่ Siam Bioscience ให้ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว
เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2564 นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ถึงสถานการณ์ 100 วันข้างหน้า ที่ประเทศไทยต้องเจอ หลังจากพบว่าเชื้อ เดลต้า กระจายเต็มทุกพื้นที่แล้ว พร้อมเตือนว่าจะเป็น 100 วันอันตราย
โดยนพ.มนูญโพสต์ไว้อย่างน่าสนใจว่า 100 วันข้างหน้าจะเป็น 100 วันอันตราย จำนวนคนติดเชื้อและเสียชีวิตจากเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทย จะเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
นพ.มนูญ ระบุว่าต่อให้เรามีมาตรการล็อกดาวน์เข้มข้นแค่ไหน อยู่บ้าน ก็ไม่สามารถหยุดเชื้อได้ บ้านกลับเป็นแหล่งระบาดที่สำคัญที่สุด (ดูรูป) จึงควรผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์บางอย่างได้บ้าง ก่อนที่เศรษฐกิจจะเสียหายมากไปกว่านี้ ใน 100 วันข้างหน้าตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่แท้จริงของประเทศไทยอาจเพิ่มขึ้นเป็น 35 ล้านคน หมายถึงคนไทยครึ่งประเทศจะติดเชื้อ และจะมีคนไทยเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีก 3 หมื่นคน
คนไทยฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มแรกแล้ว 16 ล้านคน ยังขาดอีก 40-45 ล้านคน วิธีเดียวที่จะลดจำนวนผู้ป่วยหนักเข้านอนในรพ.และลดจำนวนคนเสียชีวิต คือการฉีดวัคซีน และต้องเร่งฉีดให้เร็วที่สุดภายใน 100 วันข้างหน้า ไม่ใช่รอถึงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า โดยปูพรมฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าให้คนไทยอีก 40-45 ล้านคน ฉีดวันละ 5 แสนคน โดยให้เข็มแรกทุกคนไปก่อน เมื่อมีวัคซีนเพิ่ม ค่อยให้เข็ม 2 ในภายหลัง
ข้อมูลจากฝ่ายสื่อสารองค์กรบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ระบุว่าวัคซีนแอสตร้า 1 โดส มีประสิทธิภาพสูงในการลดการป่วยหนักถึงขั้นเข้ารพ.และเสียชีวิต โดยมีข้อมูลจากการใช้วัคซีนในประเทศแคนาดา พบว่าวัคซีน 1 โดส ป้องกันการเสียชีวิตที่เกิดจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาได้ 87% และสายพันธุ์อัลฟา 90% (ดูรูป)
ปัญหาสำคัญเรากำลังประสบขณะนี้ คือการขาดแคลนวัคซีนอย่างหนัก ผมเคยเขียนลงใน FB เมื่อวันที่ 2 ก.ค.ปีนี้ เสนอให้รัฐบาลไทยเจรจาต่อรองกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้ส่งมอบวัคซีนที่สั่งจองล่วงหน้าให้ประเทศไทยเร็วขึ้น แต่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะประเทศไทยสั่งจองวัคซีนล่วงหน้าน้อยและช้ากว่าประเทศอื่น
ผมเห็นด้วยกับ ศ.ดร.นพ.ประเสริฐ เอื้อวรากุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามพรบ.ความมั่นคงด้านวัคซีนฯงดการส่งออกวัคซีนที่ผลิตที่ Siam Bioscience ให้ประเทศอื่นเป็นการชั่วคราว
ขณะนี้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตวัคซีนประมาณเดือนละ 10-15 ล้านโดส หากใช้อำนาจตาม พรบ.งดการส่งออก ทำให้ประเทศไทยมีวัคซีน 30-45 ล้านโดสในช่วง 3 เดือนข้างหน้า ถ้าทำเช่นนั้นได้ เรามีโอกาสที่จะลดความสูญเสีย ลดจำนวนผู้ป่วยเข้านอนในโรงพยาบาลและลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากกว่าร้อยละ 80 แต่การฉีดวัคซีนไม่ได้ลดจำนวนผู้ติดเชื้อ การดำเนินการเช่นนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศอื่นในภูมิภาคในการที่จะได้รับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าลดลงชั่วคราว แต่เราจำเป็นต้องทำ
“ผมเชื่อว่าประเทศอื่นคงทำแบบเดียวกับเรา ถ้าเจอสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ย่ำแย่จากสายพันธุ์เดลตาเหมือนเราในขณะนี้” นพ.มนูญระบุในตอนท้าย
ที่มาข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ