ขอความร่วมมือ ขรก.งดเลี้ยงเกษียณ จัดงานกินเจได้ตามมาตรการ สธ. กลุ่มซิโนแวค 2 เข็มเตรียมรับ SMS ฉีดบูสเตอร์โดส 24 ก.ย. ‘ภูเก็ต’นำร่องฉีดเข้าผิวหนัง 1 โดสแบ่ง 5 คน จับตาวงเหล้า ปาร์ตี้น้ำกระท่อม ร.ร.ประจำ ศูนย์ฝึกทหารคลัสเตอร์ใหม่
เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงผลการประชุม ศบค.ชุดเล็ก ว่าสรุปผลการฉีดวัคซีนในประเทศไทย เมื่อวันที่ 16 กันยาน มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น 684,589 โดส ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นมา มีผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว 43,342,103 โดย เข็ม1 คิดเป็น 39.5% เข็ม 2 คิดเป็น 19.8% เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จังหวัดที่มีประชากรได้รับวัคซีนเข็ม 1 เกิน 50% ของจำนวนประชากรทั้งจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ภูเก็ต และพังงา
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า จังหวัดที่ได้รับวัคซีนครอบคลุมผู้สูงอายุ เกิน70% ของจังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ปทุมธานี ภูเก็ต และพังงา โดยนโยบายของ ศบค.ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ทุกจังหวัดจะต้องฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร อย่างน้อย 50% ครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์ ให้มากที่สุด เมื่อมีการฉีดกลุ่มเป้าหมายครบแล้ว ขอให้จังหวัดพิจารณาฉีดวัคซีนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย อย่างน้อย 1 อำเภอ ครอบคลุมร้อยละ 70 และ หากอำเภอนั้นถูกเลือกเป็นอำเภอนำร่องเปิดการท่องเที่ยว COVID Free Area ขอให้มีการระดมฉีดวัคซีนในอำเภอนั้นๆ ให้ครอบคลุม 80%
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นที่ประชุมยังพูดถึง วัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุมัติให้ผู้ที่ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม เข้ารับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน ซึ่งตรงกับวันมหิดลเป็นต้นไป ทั้งนี้ จะเป็นการทยอยฉีด จะมีการส่ง SMS ให้ผู้ที่ได้รับเข็ม 2 ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ประมาณ 3 ล้านรายก่อน ส่วนผู้ที่ได้รับเข็ม 2 ไปในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม อาจจะต้องรอก่อน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า เช่นกันกับจังหวัดภูเก็ตที่มีการฉีดเข็ม 2 กว่า 70% และได้มีการศึกษาปรับวิธีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะใช้เป็นเข็ม 3 ในวิธีฉีดเข้าผิวหนัง เทียบกับการฉีดเข้ากล้ามเนื้อพบว่าภูมิคุ้มกันหลัง 2 สัปดาห์ไม่มีความแตกต่างกัน ดังนั้น ทางภูเก็ตจึงจะฉีดวัคซีนเข้าผิวหนัง และทำให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 1 โดส สามารถฉีดได้ 5 คน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ส่วน การฉีดวัคซีนในกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รายงานที่ประชุมว่า โรงเรียนที่อยู่ในสังกัด ศธ. ทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาสังกัดรัฐบาลและเอกชน สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงเรียนปริยัติธรรม กองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สถาบันศึกษาปอเนาะ และสถาบันการศึกษาอื่นๆ ที่มีนักเรียนวัยเดียวกันกำลังศึกษาอยู่ เช่น โรงเรียนเตรียมทหาร กระทรวงกลาโหม โรงเรียนคนพิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โรงเรียนในสังกัด อปท เป็นต้น จะอยู่ในการดูแลของ ศธ. เป้าหมายเด็กนักเรียน จำนวน 4.5 ล้านคน
“ที่ผ่านมาได้มีการส่งแบบสำรวจและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน และให้แสดงความจำนงกลับมาที่ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ดังนั้น ขอให้ติดตามนโยบาย ย้ำว่าเป็นกลุ่มนักเรียนอายุ 12-17 ปี ไม่รวมเด็กอายุน้อย เพราะการฉีดวัคซีนในเด็กต้องพิจารณาถึงความปลอดภัย” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อ 14,555 ราย หายป่วยกลับบ้าน 13,691 ราย เสียชีวิต 171 ราย รับการรักษา 129,421 ราย จากนี้ทาง สธ.จะให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยปอดอักเสบ และตัวเลขผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญ ที่ต้องดูให้สอดคล้องกับบุคลากรและอัตราเตียงที่รองรับ
พญ.อภิสมัยกล่าวต่อว่า ปัจจุบันอัตราผู้ติดเชื้อกลุ่มที่ตรวจด้วยการสวอบจะพบการติดเชื้ออยู่ที่ 18-19% เดินเข้าไปตรวจในโรงพยายาม อัตราการพบผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 20% ขึ้นไป โดยเฉพาะกรุงเทพฯ บางช่วงอยู่ที่ 30% จึงต้องเน้นย้ำโรงพยาบาลหากพบผู้ป่วยที่มีไข้ มีอาการทางเดินหายใจ ขอให้ยืนมาตรการเดิม คือตรวจโควิด-19 ด้วย 100% ส่วนการตรวจด้วย ATK โดยเฉลี่ยพบเชื้อ 20% โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เริ่มแจก ATK ให้ประชาชนที่ลงทะเบียนประเมินตัวเองผ่าน แอพพลิเคชั่นเป๋าตัง สามารถขอรับATK ที่จุดแจก ระยะยาวทุกคนจะมีดอกาสได้รับการตรวจ เพื่อให้ทุกคนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
“การเปรียบเทียบผู้ติดเชื้อ กรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะนี้กรุงเทพฯมีปริมาณผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 37% ส่วนอีก 77 จังหวัด ทิศทางลดลง หลายจังหวัดมีการปรับลดเตียงให้เหมาะสมสถานการณ์ ซึ่งที่ประชุมขอให้คงเตียงผู้ป่วยหนักเหลืองและแดงไว้ก่อน เพื่อรองรับสถานการณ์ 10 อันดับจังหวัดผู้ติดเชื่อสูงสุด กรุงเทพฯ 2,911 ราย สมุทรปราการ 1,110 ราย ชลบุรี 935 ราย ระยอง 636 ราย ราชบุรี 501 ราย ยะลา 444 ราย สมุทรสาคร 387 ราย ปราจีนบุรี 367 ราย นครศรีธรรมราช 354 รายและสระบุรี 329 ราย
“ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคยังรายงานจังหวัดที่ติดเชื้อซึ่งไม่อยู่ใน 10 อันดับแรก แต่มีไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่คล้ายกัน คือพบในกลุ่มจัดงานเลี้ยง วงเหล้า หรือการสังสรรค์ในสถานที่ราชการที่ศรีสะเกษ เป็นวงดื่มน้ำกระท่อม ประจวบคีรีขันธ์ คลัสเตอร์โรงเรียนนายสิบ มีผลบวก 62 ราย ชลบุรื มี 2 คลัสเตอร์ คือศูนย์ฝึกทหารใหม่และกำลังพลนายเรือ เป็นต้น แม้ไม่ติดอยู่ในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ต้องจับตาการรวมกลุ่ม ถือว่าเป็นความเสี่ยง
“ที่ประชุมได้หารือและเน้นย้ำโรงเรียนประจำ โรงเรียนทหาร ศูนย์ฝึก หน่วยฝึกต่างๆ ให้มีการกวดขันมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยเร็วๆ นี้จะมีเทศกาลสำคัญอย่าง เทศกาลกินเจ และการเลี้ยงมุทิตาจิต สำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งที่ประชุมมีความเป็นห่วง โดยเทศกาลกินเจ จะเริ่มวันที่ 4 ตุลาคมนี้ ขอให้พื้นที่จัดงานดำเนินการตามนโยบายทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“ส่วนงานมุทิตาจิต ในช่วงข้าราชการเกษียณ และการแสดงความยินดีกับการเลื่อนระดับ ขอความร่วมมือให้จัดพิธีตามมาตรการสาธารณสุข ถ้าเป็นไปได้ขอให้ไม่มีการเลี้ยงสังสรรค์ รับประทานอาหารที่ต้องเปิดหน้ากากอนามัย” พญ.อภิสมัยกล่าว และว่า ส่วนที่จะมีการนำร่องท่องเที่ยว “กรุงเทพ แซนด์บ็อกซ์” วันที่ 15 ตุลาคมนั้น ยังไม่ถือเป็นมติ เพราะต้องทำตามขั้นตอน โดยต้องพิจารณาความพร้อมของพื้นที่และมาตรการควบคุมโรค มีการประเมินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ
ที่มาข่าว มติชนออนไลน์