เมื่อวันที่ 22 กันยายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดปัญหาเรื่องนมโรงเรียนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดระยอง ผู้ประกอบการไม่ยอมทำสัญญาซื้อขาย ผลจึงตกมาที่เด็กไม่ได้รับนม ซึ่งเริ่มต้นด้วยอนุกรรมการ และเลขานุการ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการอาหารนมเพื่อเด็ก และเยาวชนกลุ่มที่ 2 ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ นม 0008/1943 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2564 ถึงประธานคณะอนุกรรมการบริหารกลางโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน ขอให้พิจารณาแก้ไขปัญหาการจัดทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนของโรงเรียนเอกชนในพื้นที่จังหวัดระยอง
เนื่องจากได้รับแจ้งว่าสำนักสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยอง ได้รับการประสานจากศึกษาธิการจังหวัดระยอง ขอให้ประสานกับผู้ประกอบการที่ได้รับจัดสรรสิทธิการจำหน่าย (นม) โรงเรียน ปีการศึกษา 2564 (ธวัชฟาร์ม) และหน่วยจัดซื้อ (โรงเรียนเอกชน 17 แห่ง) ที่ยังไม่ได้จัดทำสัญญาซื้อขายอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ให้มาดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขาย ซึ่งจากการประชุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดระยองยังไม่สามารถตกลงรายละเอียดในสัญญาได้ เนื่องจากหน่วยจัดซื้อได้จัดทำสัญญาซื้อขาย ให้บริษัท ธวัชฟาร์ม (ระยอง) จำกัด เพื่อลงนามในสัญญา แต่บริษัท ธวัชฟาร์ม (ระยอง) จำกัด ขอปรับเปลี่ยนสัญญา ทำให้การดำเนินการโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนเอกชนทั้ง 17 แห่ง ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการอาหารนมเพื่อเด็กและเยาวชน เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียน ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งขณะนี้ เด็กนักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนเอกชนทั้ง 17 แห่ง ยังไม่ได้รับการสนับสนุนการดื่มนมโรงเรียนตั้งแต่เปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2564
ด้านนายสมพร ศรีเมือง รักษาการณ์ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ได้เปิดเผยว่า ทางองค์การได้รับร้องเรียนว่ามีปัญหานมไม่ถึงโรงเรียน ปัจจุบันมีผู้จำหน่ายนม 70 ราย ที่องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ที่มอบอำนาจให้เอกชนให้ผลิตนม พอผู้ประกอบการไม่ส่งให้โรงเรียน ทำให้ทางองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เสียหาย ซึ่งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ไม่ได้เป็นเลขาคณะอนุกรรมการนมโรงเรียนแล้ว เมื่อก่อนเราเป็นเลขาคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน มีหน้าที่มอบอำนาจให้ผู้ประกอบการตามที่กรมปศุสัตว์เป็นเลขาจะแจ้งชื่อให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งปัจจุบันกรมปศุสัตว์เป็นเลขาคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน แล้วเขาจะแจ้งองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ซึ่งหลังจากนั้นกรมปศุสัตว์ถึงจะแจ้งชื่อผู้ประกอบการให้องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ทำสัญญา ซึ่งวันนี้ทางองค์การโดนกล่าวหาว่าไม่ส่งนมให้โรงเรียน
ด้านนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตนเองกำกับดูแลองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มีเรื่องร้องเรียนจากกระทรวงศึกษาธิการ ปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีการรื้อดูสัญญาทั้งหมดทั่วประเทศ เพราะไม่มีความโปร่งใส ผู้ที่แบ่งโควต้าให้ คือกรมปศุสัตว์ คือปลัดกระทรวงเป็นคนให้โควต้า เมื่อนมไม่ถึงเด็ก เมื่อองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ทำสัญญา และมอบฉันทะให้กับผู้ส่งนม มีโคนมรึเปล่า ผลิตอย่างไร โรงงานอย่างไร ใครที่ทำสัญญาต้องทำสัญญากับโรงเรียนนั้นๆ ไม่ใช่เอาองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) มาบังหน้า
“นมโรงเรียนนับ 1,200 ตัน อ.ส.ค.ได้ 100 ตัน ทำไมไม่ให้โรงเรียนเป็นผู้เลือก พรุ่งนี้จะเรียกผู้มีส่วนเกี่ยวข้องประชุมด่วน บริษัทที่เกิดขึ้นมาเป็นบริษัทใคร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยไปตรวจด่วน อย่าเอาเปรียบเด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ เขาต้องได้ดื่มนมที่ดีที่สุด” รมช.เกษตรฯกล่าว
ข่าวจาก มติชนออนไลน์