“อาคม” เผยรัฐบาลวางกรอบใช้เงินกู้ 1.7 แสนล้านบาท เตรียมพยุงจ้างงานเอสเอ็มอี 3.9 แสนราย ลุ้น “โคเพย์” รัฐ-เอกชนจ่ายคนละครึ่ง พร้อมดูแลแรงงานคืนถิ่น ระยะ 6 เดือนข้างหน้า ล่าสุด ครม.เปิดทาง “เอกชน-มูลนิธิ” ทำโครงการขอใช้เงินได้
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลังกล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 64 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธาน ได้เสนอกรอบการดูแลผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตลอดจนแรงงานต่าง ๆ ที่กลับภูมิลำเนาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการแล้ว โดย มีวงเงินประมาณ1 แสนล้านบาท
ซึ่งที่ผ่านมา แม้ว่ากระทรวงแรงงานรายงานตัวเลขว่าคนออกจากงานแล้วเข้างานใหม่อยู่ในระดับใกล้เคียงกัน แต่แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบส่วนนี้ ยังไม่รู้ว่าออกจากงานไปแล้วได้กลับเข้ามาสู่ระบบการจ้างงานอีกหรือไม่ จึงต้องมีมาตรการออกมาดูแล
“จะสังเกตว่าคนที่ออกจากงานบางส่วนกลับภูมิลำเนา โรงงานปิด เอสเอ็มอีร้านอาหารปิด ก็กลับไปภูมิลำเนา เพื่อรอจังหวะร้านอาหารกลับมาเปิด แต่บางส่วนก็เปลี่ยนใจอยู่บ้าน รอฝึกอาชีพ และสร้างอาชีพใหม่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปช่วยเหลือในเศรษฐกิจฐานรากโดยเน้นไปที่ภาคชนบท ดูแลเอสเอ็มอี ส่วนจะเป็นการที่รัฐร่วมจ่าย (โคเพย์) ช่วยเหลือการจ้างงานคนละครึ่งหรือไม่นั้น ต้องรอติดตาม” นายอาคมกล่าว
อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มีมาตรการช่วยเหลือแรงงานผ่านระบบประกันสังคม มาตรา 33, มาตรา 39, และมาตรา 40 รวมทั้งยังมีมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งรัฐบาลให้เงินอุดหนุน โดยใช้หลักเกณฑ์ตามจำนวนของลูกจ้าง รายละ 3,000 บาท แต่ไม่เกิน200 คน เป็นการเติมสภาพคล่องในช่วงที่ต้องปิดกิจการ
นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางด้านการเงิน ทั้งด้านสินเชื่อ และการพักชำระหนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการไปพร้อมกัน โดยสถาบันการเงินทุกแห่งก็ให้การช่วยเหลือ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่ดำเนินงานตามนโยบายของรัฐ
ทั้งการพักชำระหนี้ และการยืดเวลาการชำระหนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ด้วย และยังมีการเติมสภาพคล่อง เช่น ของออมสิน ใครที่ขาดสภาพคล่องสามารถเอาที่ดินมาเสริมสภาพคล่องได้ หรือธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ที่รับเงินจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) มาปล่อยสินเชื่อ
รายงานข่าวแจ้งว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบกรอบแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด วงเงินรวม 170,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
1.การรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการ และส่งเสริมการจ้างงาน 70,000 ล้านบาท
และ 2.การลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตและบริการ หรือกระตุ้นการบริโภค กระตุ้นตลาด และพยุงอุปสงค์ให้กับธุรกิจต่าง ๆ อีก 100,000 ล้านบาท
โดยหลังจากนี้หน่วยงานของรัฐ รวมทั้งประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่น ๆ ในสังคม เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ สามารถจัดทำโครงการที่สอดคล้องกับกรอบดังกล่าวเสนอขอใช้งบประมาณเข้ามาได้ ซึ่งมาตรการกระตุ้นการจ้างงาน น่าจะออกมาในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ทั้งนี้ คณะกรรมการกลั่นกรองใช้จ่ายเงินกู้ ได้กำหนดช่วงระยะเวลาพิจารณาโครงการ โดยแบ่งออกเป็น 2 รอบได้แก่ รอบที่ 1 เริ่มประมาณเดือน ต.ค. 2564 กรอบวงเงินประมาณ 100,000-120,000 ล้านบาท
และรอบที่ 2 จะเริ่มประมาณเดือน มี.ค. 2565 กรอบวงเงินประมาณ 50,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งประเมินว่าเอสเอ็มอีในระบบประกันสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด จะได้รับการช่วยเหลือ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน ประมาณ 390,000 ราย
ข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ