คณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรศึกษาความเป็นไปได้ใน การสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์
วันที่ 30 ก.ย.64 ที่ห้องประชุมพระบรมธาตุนาดูน ศาลากลาง จ.มหาสารคาม นายธัญญวัฒน์ ชาญพินิจ รอง ผวจ.มหาสารคาม พร้อมด้วย นายกิติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร(สส.มหาสารคาม) หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน ผู้แทนท่าอากาศยาน และผู้แทน สนง.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เข้าร่วมสัมมนาในการศึกษาความเป็นไปได้ใน การสร้างท่าอากาศยานร่วมกัน ของ จ.มหาสารคามและจ.กาฬสินธุ์(ท่าอากาศยานสารสินธุ์) เพื่อศึกษาวิเคาระห์ความจำเป็นในการมีท่าอากาศยานแห่งใหม่ ในการรองรับการขนส่งและการท่องเที่ยวของ จ.มหาสารคาม จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียง
นายกิติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการการคมนาคม สภาผู้แทราษฎร(สส.มหาสารคาม) กล่าวว่า จ.มหาสารคามมีประชากรประมาณ 953,660 คน (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2563 กรมการปกครอง) เป็นจังหวัดที่มีอัตราการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เจริญเติบโตเป็นที่น่พอใจจังหวัดหนึ่งในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ซึ่งประกอบด้วย จ.กาฬสินธุ์ จ.ขอนแก่น จ.มหาสารคาม และจ.ร้อยเอ็ด ประชากรส่วนใหญ่ของจ.มหาสารคามประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีอุตสาหกรรมไม้และผลิตภัณฑ์จากไม้ ซึ่งรายได้สำคัญส่วนหนึ่งมาจากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะหมู่บ้านโฮมสเตย์และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น พระบรมธาตุนาดูน สะดืออีสาน(บึงกุย) เขตห้ามล่าสัตว์ป่าดูนลำพัน อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาถึงเส้นทางการคมนาคมขนส่ง ปัจจุบันพบว่ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางมีเพียงจ.มหาสารคามและจ.กาฬสินธุ์ ยังไม่มีท่าอากาศยานภายในจังหวัดทำให้นักท่องเที่ยวหรือนักธุรกิจที่ต้องการเดินทางไป จ.มหาสารคามจะต้องเดินทางไปยังทำอากาศยานขอนแก่นหรือทำอากาศยานร้อยเอ็ดแทน ส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกและไม่สามารถพัฒนาจังหวัดได้อย่างเต็มศักยภาพ
สำหรับพื้นที่ความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานสารสินธุ์ ตั้งอยู่บริเวณ ต.หนองอิเต่า อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ และ ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นเขตรอยต่อระหว่างจ.กาฬสินธุ์และจ.มหาสารคาม โดยเดินทางจากตัวเมืองมาของทั้ง 2 จังหวัด ใช้เวลาไม่เกิน 1 ชม.รวมระยะเวลาในการก่อสร้างท่าอากาศยาน โดยประมาณ 9 ปี
ข้อมูลภาพ/ข่าว จาก ประชาสัมพันธ์มหาสารคาม