ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเผยว่า เกือบ 8 ปีแล้ว ที่รัฐบาลประกาศว่าจะปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญ เป็นสิ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สัญญาว่าจะทำก่อนจะเลือกตั้ง จะเห็นว่าตลอด 7 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้ดำเนินการปฏิรูปการศึกษาไปบ้าง แต่ยังมีเรื่องที่ยังไม่ได้ดำเนินการอยู่จำนวนมากเช่นกัน มองว่าภาพรวมการปฏิรูปการศึกษาเกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างต่ำ คือ 70% ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใดๆ และเห็นการเปลี่ยนแปลงเพียง 30% ขณะนี้จะเห็นว่าการศึกษาประสบปัญหา และย่ำแย่ลง เช่น หนี้สินครู คุณภาพการศึกษา ความถดถอยทางการศึกษา ปัญหาโครงสร้าง ศธ.เป็นต้น ทำให้เห็นว่าใน 7 ปีที่ผ่านมา การศึกษาไม่มีอะไรดีขึ้น โครงสร้างไม่ได้ลดขนาดลง และไม่มีการกระจายอำนาจให้กับสถานศึกษาตามเป้าหมายของการปฏิรูปการศึกษา แต่พบว่า ศธ.ขยายตัว ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนจังหวัด มีข้าราชการระดับ 9 และระดับ 10 เติบโตเพิ่มขึ้น 25-30% สวนทางกับการฏิรูปการศึกษาอย่างมาก
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า จะเห็นว่าการรวมศูนย์อำนาจ และการตัดสินใจ ยังอยู่กับ ศธ.ค่อนข้างมาก นโยบายเชิงปฏิรูปที่ออกมาก็แก้ปัญหาการศึกษาที่อยู่ในวัฏจักรการศึกษาเดิม เช่น หนี้สินครู แก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) การเพิ่มสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) เพิ่มศึกษาการภาค (ศธภ.) และไล่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นต้น หรือเน้นย้ำเรื่องเดิมๆ แต่ไม่การปรับเปลี่ยนการปฏิบัติที่ชัดเจน เช่น ย้ำให้ครูสอนแบบ Active Learning แต่ครูยังสอนแบบ Passive learning ตลอดเวลา คิดว่าการปฏิรูปการศึกษาในเวลานี้ กำลังสอนให้เด็กเป็นคนที่อนุรักษ์นิยม เพราะเน้นสอนประวัติศาสตร์ หน้าที่พลเมือง 12 ประการ เน้นให้เด็กทำตามกฎเกณฑ์ ระเบียบ เชื่อตามผู้ใหญ่ เป็นระบบอำนาจอนุรักษ์นิยม คือใช้อำนาจเพื่อสอนให้เด็กมีความอนุรักษ์นิยม
“จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่ดีขึ้น ไม่ปฏิรูปจริงจัง วนเวียนอยู่กับกรอบแนวคิดเดิม อีกทั้ง ระบบราชการโตขึ้น งบประมาณกว่า 80% ของ ศธ.นำไปใช้จ่ายในระบบราชการ เงินเดือน ค่าตอบแทน เงินวิทยฐานะ เพื่อให้ข้าราชการเจริญเติบโตขึ้นเท่านั้น ทำให้เห็นว่าการเมืองกำลังนำการศึกษา การปรับเปลี่ยนต่างๆ เพื่อหาเสียงของรัฐบาลเท่านั้น แต่เด็กที่เป็นกลุ่มที่ ศธ.ต้องดูแล กลับได้รับงบพัฒนาเพียง 20% เท่านั้น” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ศ.ดร.สมพงษ์กล่าวต่อว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบัน เป็นระบบที่เน้นการเรียนการสอน เนื้อหาสาระ เน้นการเรียนจากหนังสือ เน้นท่องจำ เน้นการวัดผลที่คัดเด็กออกด้วยระบบผลักออก ไม่ว่าจะเป็นการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อ และการสอบเพื่อเลื่อนชั้น จะมีเด็กเพียง 20-30% เท่านั้น ที่ได้รับประโยชน์จากระบบการศึกษานี้ เด็กอีก 70-80% ถูกทำให้ออกจากระบบการศึกษา ซึ่งแต่ละปีจะมีเด็กประมาณ 60,000 -70,000 คน ที่ถูกทำให้หลุดจากระบบด้วยการสอบคัดเลือก ขณะนี้มีเด็กที่ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเกือบ 900,000 คน ในจำนวนนี้กลายเป็นแรงงานไร้ฝีมือต่อไป จะเห็นว่าระบบการศึกษาเอื้อให้เด็กที่เชื่อฟัง และปฏิบัติตามระเบียบกฎเกณฑ์ พยายามสอบแข่งขันเท่านั้น ใครที่คิดต่าง หรือมีปัญหา จะถูกคัดออก ถูกผลักออกจากระบบการศึกษา ระบบนี้แบบนี้ควรจะปล่อยให้มีอยู่ต่อไปหรือ เพราะเป็นระบบที่เอื้อต่อการเติบโตของราชการเท่านั้น สวนทางกับความต้องการของนักเรียน
“อย่างไรก็ตาม เห็นรัฐบาลเริ่มปฏิรูปการศึกษาจนทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้ว เช่น การตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อปฏิรูปการศึกษาอย่างน้อย 5 คณะ ออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ พ.ร.บ.นวัตกรรมการศึกษา ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ การปรับเปลี่ยนหลักสูตร เป็นต้น หากให้ประเมินการปฏิรูปการศึกษาประเทศไทยนั้น ถือว่าสอบตก เป็นการ ‘อปฏิรูปการศึกษา’ คือไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ การดำเนินงานของรัฐบาล เหมือนผู้ใหญ่ที่ไม่ฟังเสียงของเด็กที่ออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปการศึกษา คือรับปาก แต่ไม่ได้ปฏิรูปอย่างแท้จริง” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ข้อมูลข่าวจาก มติชนออนไลน์