วันที่ 7 ธ.ค. 66 นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พรุ่งนี้ (8 ธ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน จะมีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ โดยจะเชิญกรรมการทั้ง 3 ไตรภาคี คือ นายจ้าง ลูกจ้าง และข้าราชการกระทรวงแรงงาน ประชุมร่วมกันตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ตอนนี้ยังไม่มีวาระการประชุมออกมา แต่เบื้องต้นเมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ทางอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดแต่เสนอตัวเลขมาแล้ว ซึ่งเป็นตัวเลขที่คำนวณออกมาแล้ว โดยไม่ได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ที่เท่ากันในแต่ละจังหวัด ดังนั้น ค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดที่เสนอมา ก็จะมีการเพิ่มขึ้นไม่เท่ากัน
นายไพโรจน์ กล่าวว่า การประชุมพรุ่งนี้จะเป็นการเคาะตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดครั้งสุดท้าย ซึ่งตัวเลขที่เคาะอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงจากที่อนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอมา ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาร่วมกันของไตรภาคี เบื้องต้นจนถึงขณะนี้มี 2 จังหวัดที่ไม่ได้เสนอปรับตัวเลขค่าจ้างเข้ามายังคณะกรรมการ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจังหวัดอะไร เนื่องจากอาจจะกำลังเสนอเข้ามาก็ได้ เช่นเดียวกับในรายละเอียดตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำที่มีการเสนอเข้ามาแล้วนั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นที่น่าจับตาในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในวันพรุ่งนี้ เนื่องจาก จากรัฐบาลนำโดยพรรคเพื่อไทยได้มีการประกาศเป็นนโยบายเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั้งประเทศ แต่จากการหารือของคณะกรรมการฯ และกระทรวงแรงงาน ก่อนหน้านี้มองว่า การจะปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 400 บาท ทั้งประเทศนั้นทำได้ยาก จึงอาจจะต้องพิจารณาปรับเพิ่มเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อปี 2565 คณะกรรมการไตรภาคี ได้มีการพิจารณาปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้มีผลในวันที่ 1 ต.ค.2565 สูงสุด 22 บาท ใน 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ส่วนที่ได้รับการปรับเพิ่มในอัตรต่ำสุด 8 บาท มี 2 จังหวัด น่าน และ อุดรธานี ทั้งนี้เมื่อดูในรายละเอียดค่าจ้างจะแบ่งอัตรการค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 9 ช่วง โดยอัตราต่ำสุดอยู่ที่ 328 บาท สูงสุด 354 บาท ค่าเฉลี่ย 337 บาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.02 % โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 เป็นต้นมา ดังนี้
ช่วงที่ 1 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สูงสุด 354 บาทมี 3 จังหวัดคือชลบุรี ระยอง ภูเก็ต
ช่วงที่ 2 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 353 บาท จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
ช่วงที่ 3 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา
ช่วงที่ 4 อัตราอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 343 บาท มี 1 จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา
ช่วงที่ 5 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 340 บาทมี 14 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
ช่วงที่ 6 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 338 บาท มี 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดมุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
ช่วงที่ 7 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 335 บาท มี 19 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยา สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
ช่วงที่ 8 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 332 บาท มีทั้งหมด 22 จังหวัด คือ จังหวัดอำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
และช่วงที่ 9 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 328 บาท มี 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
ข้อมูลข่าวจาก : ข่าวสด