ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ทำเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.1% ต้นทุนแรงงานเฉลี่ย พุ่งขึ้น 6% ขณะที่ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอาจมีไม่มากนัก
วันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องตลอด 20 กว่าปีที่ผ่านมา โดยในปี 2567 รัฐบาลมีนโยบายที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นเป็น 400 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นการปรับค่าจ้างเพิ่มขึ้น 16% จากค่าเฉลี่ยในระดับปัจจุบัน (ณ พ.ค. 2567) ที่ราว 345 บาทต่อวัน
โดยจะเป็นการปรับขึ้นค่าจ้างพร้อมกันทั่วประเทศครั้งที่สองของไทย และจะเป็นครั้งที่สามที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างนับตั้งแต่ต้นปี 2567
อย่างไรดี ในปัจจุบันนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าวยังไม่มีข้อสรุป โดยการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการค่าจ้างชุดใหญ่ (ไตรภาคี) ซึ่งล่าสุด (14 พ.ค. 67) มีมติมอบคณะอนุกรรมการจังหวัดแต่ละพื้นที่เสนอตัวเลขปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละจังหวัดและกิจการ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. 2567 นี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเป็น 400 บาท ดังนี้
ภาคธุรกิจจะมีต้นทุนแรงงานเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 6% (คำนวณจากข้อมูลปลายปี 2566 ที่มีจำนวนลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 10,000 บาท/เดือน คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของลูกจ้างทั้งหมด)
หากแยกตามธุรกิจพบว่า ธุรกิจที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor-intensive) เช่น ภาคเกษตร การบริการด้านอื่น ๆ งานในครัวเรือนส่วนบุคคล ที่พักแรมและบริการอาหาร และก่อสร้าง จะมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นจากเดิมราว 8-14% ซึ่งสูงกว่าภาคธุรกิจเฉลี่ย
ทั้งนี้ นอกเหนือจากการปรับค่าจ้างแรงงานตามค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้นแล้ว บางธุรกิจอาจมีต้นทุนแรงงานในส่วนอื่น ๆ ที่ไม่ได้อิงกับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มเติม ซึ่งคงขึ้นอยู่กับโครงสร้างการจ่ายค่าจ้างของแต่ละธุรกิจ
กิจการที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดน่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่าหัวเมืองหลักและหัวเมืองรอง เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำในปัจจุบันมีระดับแตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด ตั้งแต่ 330-370 บาทต่อวัน (จากการปรับทั้งประเทศครั้งล่าสุด 1 ม.ค. 2567) ส่งผลให้ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของผู้ประกอบการอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่
เงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 อาจสูงขึ้น 0.1% โดยต้นทุนของผู้ประกอบการมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่การส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาสินค้าผู้บริโภคนั้นคงขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการและการแข่งขันของตลาดเป็นสำคัญ ท่ามกลางอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอ โดยการแข่งขันด้านราคาที่เข้มข้นคงส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้เต็มที่
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าหากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศในเดือน ต.ค. 2567 อาจส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไปในภาพรวมปี 2567 ที่ราว 0.1% ซึ่งแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นคงจะเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคภายในประเทศท่ามกลางค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูงอยู่แต่เดิม
ขณะที่ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากแรงงานที่ได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอาจมีไม่มากนัก ท่ามกลางค่าครองชีพและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อีกทั้ง เนื่องจากแรงงานในประเทศที่อิงค่าแรงขั้นต่ำมีสัดส่วนเป็นแรงงานต่างด้าวค่อนข้างมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีแนวโน้มโอนเงินค่าจ้างที่ได้รับกลับไปยังประเทศตนเองราว 30-40% ของรายได้ต่อเดือน
ส่งผลให้ภาพรวมแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในการบริโภคในประเทศน้อยกว่าค่าจ้างที่ได้รับเพิ่มขึ้น (Marginal Propensity to Consume : MPC น้อยกว่า 1) ส่งผลให้ผลบวกต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคในปี 2567 คาดว่าจะมีไม่มากนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังระบุอีกว่า แม้การปรับเพิ่มขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็มีความเสี่ยงจากราคาสินค้าและบริการที่จะเพิ่มขึ้นตาม รวมถึงการถูกเลิกจ้างงานในบางกิจการ โดยก่อนหน้านี้มีสินค้าและบริการบางรายการปรับไปรอค่าจ้างที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาครัฐไม่ได้มีมาตรการคู่ขนานในการควบคุมดูแลราคาสินค้าและบริการร่วมด้วย
ทำให้ท้ายที่สุดแล้วความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานคงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และอาจต้องเผชิญความเสี่ยงถูกเลิกจ้างจากผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อาจมีการหันไปประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น หรือบางกิจการ โดยเฉพาะ SMEs ที่อาจแบกรับต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นไม่ไหวจนต้องปิดตัวลง
ข้อมูลข่าวจาก : ประชาชาติธุรกิจ