กระทรวงศึกษาธิการ ได้ฤกษ์ยุบ กศน. โอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันต่าง ๆ ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เปลี่ยนสถานะเป็นกรมส่งเสริมการเรียนรู้อย่างเต็มตัว มุ่งส่งเสริมการศึกษาทุกช่วงวัย มั่นใจประชาชนได้ประโยชน์
วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงศึกษาธิการมีการโอนบรรดากิจการ อำนาจหน้าที่ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้ และภาระผูกพันทั้งปวง ระหว่าง สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) ให้กรมส่งเสริมการเรียนรู้ กระทรวงศึกษาธิการ
นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวผ่านระบบออนไลน์จากประเทศฝรั่งเศสว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับพี่น้องชาว กศน. ในการยกระดับจาก “สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย” หรือ “สำนักงาน กศน.” สู่การเป็น “กรมส่งเสริมการเรียนรู้” ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 มีหน้าที่จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้ 3 รูปแบบ คือ
1.การเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง และ
3.การเรียนรู้เพื่อคุณวุฒิตามระดับ
ซึ่งการส่งเสริมการเรียนรู้ ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งพัฒนาบุคคลให้มีทักษะการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และทักษะชีวิตที่สอดคล้องและเท่าทันพัฒนาการของโลก มีโอกาสพัฒนาหรือเพิ่มพูนทักษะของตนให้สูงขึ้นหรือปรับเปลี่ยนทักษะของตนตามความถนัดหรือความจำเป็น ผ่านการมีส่วนร่วมของ 3 เสาหลัก ได้แก่ รัฐ เอกชน และท้องถิ่น
นางสาวตรีนุชกล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมการเรียนรู้ พ.ศ. 2566 ฉบับนี้ ถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนรู้ของประชาชนคนไทยทุกช่วงวัย ตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชนที่ด้อยโอกาสจะสามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทุกรูปแบบ ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ซึ่งจุดเด่นของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเดิม จัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่จะขยายตัวรองรับทุกพื้นที่ ตอบโจทย์ความต้องการของคนยุคใหม่ ตั้งแต่ระดับปฐมวัย ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเพิ่มทักษะชีวิต เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตามแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ผ่านแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในรูปแบบที่หลากหลาย โดยมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากหน่วยงานในระดับพื้นที่และระดับประเทศ ดังนั้น กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จึงเป็นหน่วยงานที่ต้องมีการปรับตัวให้ตอบสนองความต้องการทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
“กรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นกรมใหม่ล่าสุดของประเทศไทยที่มีภารกิจสำคัญอย่างยิ่ง และมีความคาดหวังว่าจะเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการศึกษาของประเทศไทย รูปแบบการทำงานจึงต้องเป็นแบบบูรณาการทั้งแนวระนาบเดียวกัน และแนวตั้ง ทั้งในกระทรวง และระหว่างกระทรวง ที่สำคัญ คือ ต้องทำงานร่วมกับภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการร่วมจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง ดิฉันเชื่อว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้จะช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ไปสู่การเรียนรู้ของคนไทยตลอดช่วงชีวิต เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นให้กับประชาชนทุกคนได้”
ที่มาข่าว: ประชาชาติธุรกิจ