การค้นพบอันยิ่งใหญ่ที่นาดูน
นครจัมปาศรีนับเป็นเมืองในสมัยทวารวดี ตัวเมืองเป็นรูปไข่ กำแพงเมืองประกอบด้วยเชิงเทินดินสูงประมาณ ๓ เมตร กว้างประมาณ ๖ เมตร ภายในอาณาเขตของนครจัมปาศรีพบเจดีย์จำนวน ๒๕องค์ นอกจากนี้ภายในบริเวณนครจัมปาศรียังพบโบราณสถานและโบราณวัตถุจำนวนมาก ลำดับการขุดพบดังนี้
- พ.ศ. ๒๕๑๑ ขุดพบพระพิมพ์ดินเผาประมาณ ๓ กล่องกระดาษ พระพุทธรูปอีก ๑o๘ องค์ พระพุทธรูปนี้เรียกว่า “พระมงคล” กับโบราณวัตถุจำนวนมาก และวัตถุโบราณมีรูปลักษณะคล้ายน๊อตสีเขียวเหมือนหยกทำเป็น ๗๘ เหลี่ยม และ ๑๖ เหลึ่ยม ส่วนยอดทำเป็นลักษณะกลม ๆ คล้ายขันครอบ บริเวณซากโบราณสถานริมฝั่งห้วยนาดูนซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของบ้านหนองโง้ง ตำบลนาดูน อำเภอนาดูน
- พ.ศ. ๒๕๑๓ พบซากโบราณสถานอยู่ทางด้านทิศเหนือของโรงเรียนชุมชนบ้านกู่โนนเมือง หรืออยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ ๑ เมตรเศษ พบพระพิมพ์ปางนาคปรกเดี่ยวสีขาวจำนวนมาก ซึ่งถือกันว่าเป็นพระเครื่องนครจัมปาศรีรุ่นแรกที่มีอิทธิฤทธิ์ปาฎิหารย์เป็นที่เลื่องลือด้านพระพุทธคุณมาก
- พ.ศ. ๒๕๑๔ เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ ๗ จังหวัดขอนแก่น ได้มาทำการขุดแต่งโบราณสถานในพื้นที่อำเภอนาดูนรวม 3 แห่ง และได้พบสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
๑. ขุดแต่งกู่สันตรัตน์ พบโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหลายชิ้น ชิ้นที่สมบูรณ์และสวยงามที่สุด คือ พระ วชิรธร ทำด่วยหินทรายสีเขียว ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
๒. ขุดแต่งกู่น้อย พบโบราณวัตถุสมัยลพบุรีหลายชิ้น ชิ้นที่สวยที่สุดเป็นเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ และเศียรเทวรูปทำด้วยหินทราย ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
๓. ขุดแต่งศาลานางขาว พบศิลาจารึก ๑ หลัก สูง ๒๑ เมตร กว้าง ๙ เซนติเมตร หนา ๔.๕o เซนติเมตร มีอักษรจารึกจำนวน ๑๔ บรรทัด
- พ.ศ. ๒๕๒๒ เดือนมีนาคม ๒๕๒๒ ขุดพบเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อ ไห เครื่องบดยาจำนวนมากตามแหล่งโบราณสถานต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณรอบ ๆ กู่สันตรัตน์ กู้น้อย ศาลานางขาว และบริเวณใกล้เคียงในเขตเมืองโบราณ
วันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๒๒ ขุดพบซากเจดีย์โบราณที่เนินนา ซึ่งอยู่ห่างจากกู่สันตรัตน์ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๕ooo เมตร หรืออยู่ห่างจากถนนเข้าตัวอำเภอนาดูนทางด้านทิศใต้ประมาณ ๑oo เมตร เมื่อขุดลึกลงไปอีกพบพระพุทธรูปสำริดปางห้ามญาติบรรจุอยู่ในไหโบราณขนาดใหญ่ พระพุทธรูปสำริดที่พบมีหลายขนาดตั้งแต่ ๕ – ๑๔ นิ้ว รวมจำนวนทั้งหมด ๕o องค์
วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ขุดที่บริเวณเนินดินในที่นาของนายทองดี ปะวะภูตา พบก้อนศิลาแลงจำนวน ๓ ก้อน ขุดลึกลงไปอีกประมาณ ๑.๘o เมตร พบวัตถุทำด้วยสำริดลักษณะเป็นวงแหวน จำนวน ๔ ชิ้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑ นิ้ว และพบสำริดเป็นแผ่นบางผุกร่อนยาวประมาณ ๕ นิ้ว ทางทิศตะวันตกพบพระพิมพ์ดินเผาทั้งหมด ๑๒ กระสอบปุ๋ย
วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ประชาชนได้บุกรุกพื้นี่เข้าไปขุดหาพระและของโบราณในพื้นที่ของนายทองดี เขตเมืองเก่านครจัมปาศรี ได้พระพิมพ์ดินเผารวมกัน ๖ กระสอบข้าวสาร
วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีคนเข้าไปลักลอบขุดได้พระพิมพ์ดินเผาอีกเป็นจำนวนมาก
วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๒๒ ขุดพบพระพิมพ์ทำด้วยหินทรายปางนาคปรกขนาดใหญ่ครึ่งองค์ ฐานกว้างประมาณ ๕o เซนติเมตร สูงประมาณ ๗o เซนติเมตร
วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๒๒ ประชาชนนำวัตถุโบราณที่ขุดพบได้จำนวน ๑๘ กล่อง มอบแก่หัวหน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๒ นายบุญจันทร์ เกษแสนศรี ได้ขุดพบสถูปสำริด ๑ ชิ้น นายธีรยุทธ ทรพิสิงห์ ขุดพบแผ่นทองกลีบบัวซึ่งเป็นที่รองรับสถูป ๑ ชิ้น
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: สำนักงงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม