ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน-สสส.-มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน สานพลังนำเสนอแนวทางสร้างภูมิรู้สู้พนันในสังคมก้าวหน้า ส่งผลเสียต่อร่างกาย-สุขภาพจิต-ครอบครัว-ความรุนแรง-หนี้สิน -อาชญากรรม
เมื่อวันที่ 17 ก.ค. 2566 ณ รร.อมารี ดอนเมือง ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ปี 2566 การพนันในสังคมก้าวหน้า : ก้าวให้ทันความท้าทาย เพื่อเสนอแนวทางสร้างการรู้เท่าทันพนันในสังคมไทย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ทำให้ไทยมีองค์ความรู้ประเด็นพนันที่หลากหลายและพร้อมใช้งาน เช่น การสำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันของประเทศไทย ทุก 2 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ถึง ปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2562 มีการสำรวจสถานการณ์การพนันระดับจังหวัด เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์การพนันถือเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของผู้กำหนดนโยบายและทุกภาคส่วน เพราะธรรมชาติของการพนัน ถ้าคนเล่นพนันครั้งแรกได้ชนะพนันจะทำให้เกิดความอยากเล่นพนันบ่อยขึ้นและมีโอกาสก้าวเข้าสู่ภาวะเสี่ยงที่จะเป็น นักพนันที่มีปัญหา หรืออาจถึงขั้นเป็น โรคติดการพนัน ซึ่งเป็นโรคทางสมองอย่างหนึ่ง ยิ่งเล่นยิ่งติด ยิ่งกระตุ้นสมองให้มีพฤติกรรมการอยากเข้าไปเล่นมากยิ่งขึ้น ยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยง
“ปัญหาจากการพนันเป็นต้นทุน ทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม เมื่อคนเสพติดการพนัน ทักษะความสามารถในการจัดการปัญหาทั้งด้านความคิด จิตใจ และอารมณ์จะลดลง ก่อให้เกิดปัญหาต่อการดำเนินชีวิต ตามมาด้วยผลกระทบ ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพจิต ความสัมพันธ์ในครอบครัว ความรุนแรง หนี้สิน การทุจริต อาชญากรรม งานวิจัยยังพบด้วยว่า คนติดการพนัน 1 คน ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดถึง 10-17 คน การประชุมครั้งนี้จะช่วยชี้ให้เห็นแนวทางการรับมือกับปัญหาที่เกิดจากพนันในฐานะปัจจัยเสี่ยงสุขภาพและสังคม นอกจากองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัย เชื่อว่าประสบการณ์ของวิทยากรที่ร่วมอภิปรายในแต่ละเวทีจะนำไปสู่การออกแบบนโยบาย มาตรการ หรือกลไกที่เหมาะสมต่อการจัดการกับการพนันในสังคมไทย โดยเฉพาะการปกป้องกลุ่มเป้าหมายสำคัญคือเด็กและเยาวชน รวมถึงการผลักดันให้รัฐบาลมีนโยบายที่เข้มแข็ง” ดร.สุปรีดา กล่าวว่า
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน กล่าวว่า สังคมไทยมีการพนันถูกกฎหมายอยู่แล้ว และปัญหาจากการพนันมีให้เห็นชัดเจน การจะให้มีพนันถูกกฎหมายมากขึ้นเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งและมีความเชื่อมโยงกับอีกหลายปัญหา สังคมไทยควรมีหน่วยงานหรือกลไกรับผิดชอบด้านการป้องกันก่อน ต้องมีหน่วยงานเฉพาะในการดูแลผู้ป่วยด้วยโรคติดพนัน และต้องมีระบบหรือหน่วยงานให้คำปรึกษาแบบเฉพาะกับนักพนันที่มีปัญหา เผยแพร่ให้คนไทยรู้ว่าการติดพนันเป็นโรคทางจิตเวชที่รักษาได้ สังคมต้องตระหนักถึงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากพนัน
“การศึกษาพฤติกรรมการเล่นพนันออนไลน์ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ปี 2566 พบว่า ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมามีคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ 32.3% หรือประมาณ เกือบ 3 ล้านคน ประมาณ 1 ใน 3 ระบุว่าตนเองได้รับผลกระทบจากการเล่นพนันออนไลน์ และกลุ่มคนรุ่นใหม่เล่นพนันออนไลน์ถึง 23% เข้าข่ายเป็นนักพนันที่เป็นปัญหา เป็นกลุ่มที่ควรเข้ารับบริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 15-18 ปี 1.12 แสนคน เป็นเยาวชน 19-25 ปี 5.77 แสนคน สัญญาณบ่งชี้พฤติกรรมการเล่นพนันที่เป็นปัญหา 5 อันดับแรกคือ ต้องเพิ่มจำนวนเงินเพื่อให้ได้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจหรือได้ลุ้นเหมือนเดิม หวนกลับไปเล่นพนันแก้มือเพื่อหวังจะได้เงินที่เสียไปคืนมา เล่นพนันด้วยเงินจำนวนมากกว่าที่มีจ่าย รู้สึกผิดกับการเล่นพนันหรือผลที่ตามมาจากการเล่นพนัน และรู้สึกว่าอาจมีปัญหาจากการเล่นพนัน”