วันที่ (11 ธันวาคม 2564) นายประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 จังหวัดมุกดาหารพบผู้ป่วยยืนยันพบเชื้อ Streptococcus suis (โรคไข้หูดับ) จำนวน 3 ราย ซึ่งเป็นการตรวจยืนยันพบโรค Streptococcus Suis (โรคหูดับ) เป็นครั้งแรกในจังหวัดมุกดาหาร และมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยโรคหูดับ จำนวน 7 ราย ทุกราย มีประวัติรับประทานหมูดิบ ในงานบุญ ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ตำบลบ้านโคก อ เมืองมุกดาหาร
นายประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร กล่าวว่า โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อสเตรปโตคอกคัส ซูอิส เป็นสาเหตุของภาวะเยื่อหุ้มในสมอง การติดเชื้อในกระแสเลือดและการสูญเสียการได้ยิน สามารถติดต่อจากสัตว์สู่คน จากการรับประทานเนื้อสัตว์ดิบและการสัมผัสสัตว์ป่วยทำให้เชื้อเข้าทางแผลตามร่างกาย โดยส่วนมากผู้ติดเชื้อมักมีอาชีพเกี่ยวกับการเลี้ยงหมู ทำงานในโรงงานชำแหละหมู หรือผู้สัมผัสกับสารคัดหลั่งของหมู เช่น น้ำมูก น้ำลาย หลังจากได้รับเชื้อ 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีจ้ำเลือดตามตัว ตามผิวหนัง ชัก อีกทั้งยังนำไปสู่การเสียชีวิตจากภาวะ toxic shock syndrome ผู้ป่วยบางรายที่ไม่เสียชีวิตส่วนใหญ่จะพบความพิการตามมา เช่น สูญเสียการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง และสูญเสียการได้ยินถึงขั้นหูหนวกหรือเรียกว่า หูดับ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจะถึงขั้นเสียชีวิตเนื่องมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่ ผู้จำหน่าย หรือผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ลาบหมูดิบ หรือหลู้ ที่มีการปนเปื้อนของเชื้อ พบได้ในทุกช่วงอายุ แต่โดยทั่วไปจะพบในผู้ใหญ่ และพบในเพศชายสูงกว่าเพศหญิง
สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังเรื่องการประกอบอาหารและรับประทานอาหารดังกล่าว โดยขอให้เน้นการรับประทานอาหารที่ปรุงสุก ใหม่ และสะอาด หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อหมูดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ หากผู้ปรุงอาหารจากเนื้อหมูมีบาดแผลที่ผิวหนัง ต้องทำการปิดแผล และสวมถุงมือขณะปรุง เลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ เนื้อยุบ ก่อนประกอบอาหารควรต้มด้วยอุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียส นานอย่างน้อย 10 นาที หรือต้มจนไม่มีสีแดงและไม่สัมผัสเนื้อหมูและเลือดดิบด้วยมือเปล่า โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้าบู๊ตยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้งด้วย
ข่าว – วันวิภา แพงแก้ว ประชาสัมพันธ์จังหวัดมุกดาหาร