อำเภอกันทรวิชัย เป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 11 อำเภอกับ 2 กิ่งอำเภอ ของจังหวัดมหาสารคาม เดิมทีเดียวถิ่นนี้เคยมีฐานะเป็นเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ โดยมีเจ้าเมืองปกครองเป็นอิสระเรียกว่า “เมืองคันธาธิราช” หรือเมืองคันธะวิชัย ตามพงศาวดาร หัวเมืองมณฑลอีสาน ซึ่งหม่อมอมรวงษ์วิจิต (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) เรียบเรียงขึ้นเมื่อดำรงตำแหน่งปลัดมณฑลอีสาน ตามพงศาวดารดังกล่าว ได้กล่าวไว้ว่า เมืองคันธาธิราชตั้งขึ้นเมื่อปีมะเส็ง จุลศักราช 147 (ปี พ.ศ. 1328) เมืองนี้ตั้งอยู่นานเป็นพันปี มีเจ้าผู้ปกครองเมืองผัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาหลายยุคหลายสมัย จนถึงสมัยท้าวลินจง เป็นผู้ครองเมือง ในตอนหลังได้เกิดเรื่องราวที่โศกเศร้าและสยดสยองมาก คือ ท้าวลินจงได้ถูกท้าวลินทองผู้เป็นบุตรชาย ที่มีจิตใจเหี้ยมโหดทารุณ หาอุบายจับบิดาขังไว้ทรมาน จนบิดาถึงแก่ความตาย สืบเนื่องมาจากเหตุผลที่ว่าเมื่อบิดาตายแล้วตนจะไม่ได้ปกครองบ้านเมืองแทน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองคันธาธิราช ก็ถึงกาลอวสาน กลายเป็นเมืองร้างมาอีกช้านาน นับแต่สร้างเมืองมาจนถึงเมืองร้าง เป็นระยะเวลา 1,089 ปี
สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 5 จึงทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งเมืองขึ้นใหม่ให้ชื่อว่า “เมืองคันธาวิชัย” หรือ เมืองกันทะวิชัย
เมืองคันธะวิชัย หรือเมืองกันทะวิชัย มีฐานะเป็นเมืองมีเจ้าเมืองเป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อเมืองกาฬสินธุ์ จะขอคัดตัดตอนจากพงศาวดาร อีสานภาค 4 ของหม่อมอมรวงษ์วิจิต (ม.ร.ว.ปฐม คเนจร) มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาดังนี้
ครั้งจุลศักราช 1236 ปีจอ (พ.ศ. 2417) ฝ่ายเมืองกาฬสินธุ์ พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองมีใบบอกขอตั้งเมืองกันทางร้าง เป็นเมืองท้าวคำมูล คนเมืองมหาสารคามซึ่งอพยพ ท้าวเพี้ย จำนวนตัวเลขที่สมัครรวม 2,700 คนเศษ มาตั้งอยู่เป็นเจ้าเมือง และตั้งเพี้ยเวียงแก เพี้ยเวียงทอ เพี้ยไชยสุริยา และเพี้ยนามวิเศษ รับตำแหน่งอุปฮาด ราชวงษา ราชบุตร ผู้ช่วยเต็มอัตรา จึงขอทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตั้งบ้านคันทางร้าง เป็นเมือง “กันทะวิชัย” ตั้งให้เพี้ยคำมูลเป็น พระปทุมวิเศษ เจ้าเมือง ให้เพี้ยเวียงทอ เป็นราชวงษ์ เพี้ยไชยสุริยาเป็นราชบุตร ให้เพี้ยนามวิเศษเป็นที่หลวงจำนงภักดี ผู้ช่วยทำราชการขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์ แต่เพี้ยเมืองแกไม่ได้ลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ จึงหาได้มีราชสีห์ตั้งไม่ เป็นแต่ได้รับตำแหน่งอุปฮาต ตามใบบอกของพระยาไชยสุนทร เท่านั้น
ในปีนี้ได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นข้าหลวงไปจัดรักษาการอยู่ ณ เมืองอุบล เดือน 4 แรม 14 ค่ำ ปีนี้เวลาบ่ายโมงเศษได้มีสุริยปราคา จับมืดอยู่ครู่หนึ่ง ก็แจ้งสว่างตามความในพงศาวดาร ปรากฏเพียงเท่านี้
ฉะนั้น ตามประวัติมหาดไทยเขียนไว้ว่า พระปทุมวิเศษ (ทองคำ) เป็นเจ้าเมืองคนแรกนั้น หาได้ตรงตามหลักฐานที่ปรากฏ ในพงศาวดารไม่ แต่เป็นพระปทุมวิเศษคนต่อมา พระปทุมวิเศษคำมูล เป็นหลานของพระยาขัติยวงษ์ (สีสัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ด เป็นน้องเขยของพระเจริญราชเดช (ฮึง) เจ้าเมืองมหาสารคามคนที่สอง เวลานั้นเขตท้องที่ของเมืองกันทรวิชัย จะมีอาณาเขตเท่าใดไม่ปรากฏ คงถือเอาตามถิ่นที่อยู่ของพลเมือง (จำนวนของพลเมือง) ที่ขอแต่งตั้งเป็นเมือง เพราะปรากฏว่าบ้านท่าขอนยางนั้นก็เป็นอีกเมืองหนึ่งต่างหาก ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองกันทรวิชัยไปทางทิศใต้เพียง 11 กม. เท่านั้น เป็นเมืองที่ขึ้นต่อเมืองกาฬสินธุ์ เมืองท่าขอนยางตั้งขึ้นมาก่อน เมืองกันทรวิชัย ประมาณ 29 ปี ดังปรากฏในพงศาวดารว่า
จุลศักราช 1207 (พ.ศ. 2388) โปรดเกล้า ฯ ตั้งให้พระคำดวน (ฤคำกอน) เมืองคำเกิดซึ่งอยู่บ้านท่าขอนยาง เป็น (พระสุวรรณภักดี) เจ้าเมือง ให้อุปฮาตเมืองคำเกิดเป็น อุปราช ราชวงษ์เมืองคำเกิดเป็นราชวงษ์ ราชบุตรเมืองคำเกิดเป็นราชบุตร ยกบ้านท่าขอนยางเป็นเมืองท่าขอนยาง ผูกส่วยผลเร่วสีสอบหาบคิดหาบละ 5 ตำลึง รวมเป็นเงินส่งแทนผลเร่วปีละ 10 ชั่ง และพระราชทานพระสุพรรณภักดี (คำดวน ฤ คำกอน) เงินตราชั่ง 5 ตำลึง ถาดหมาก คณโฑเงิน 1 สัปทน แพรคัน 1 เสื้อเข็มขาบก้านแหย่ง 1 ผ้าโพกแพรขลิบ 1 ผ้าปักทองมีซับ 1 แพรขาวห่ม 1 ผ้าปูม 1
พระราชทานอุปฮาดราชวงษ์ ราชบุตร เมืองท่าขอนยางอย่างเดียวกับเมืองภูแล่นช้าง (ยางตลาด) พระคำดวนผู้นี้เคยเป็นเจ้าเมืองคำเกิด แขวงเมืองนครพนม พาครอบครัวและกรมการเมือง อพยพหนีภัยจากเจ้าอนุวงศ์ เวียงจันทน์ ซึ่งยกกองทัพมาตีหัวเมืองต่าง ๆ ในภาคอีสาน แล้วกวาดต้อนเข้าเป็นไพร่พล สมทบยกกำลังมาตีกรุงเทพ ฯ ครั้นจุลศักราช 1198 ปีวอก อัฐศก (พ.ศ. 2396) พระมหาอำมาตย์ (ป้อม) และพระมหาสงครามซึ่งได้รับพระราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้เกณฑ์กำลังพลเมืองฝ่ายเหนือเฉียงตะวันออก ได้จัดการให้ครบครัวของพระลำดวน ซึ่งมีจำนวนคน 1,875 คน ตั้งอยู่บ้านท่าขอนยาง พร้อมกับพระยาคำแดง ซึ่งเป็นอุปฮาดเมืองคำดวน พร้อมด้วยกรมการเมือง และไพร่พลจำนวน 933 คน ตั้งอยู่ตำบลแซงกระดาน แขวงเมืองกาฬสินธุ์ ทั้ง 2 ตำบล อยู่ต่อมาจึงยกฐานะเป็นเมือง ดังกล่าวแล้ว ในสมัยพระยาไชยสุนทร (เลื่อน) เจ้าเมืองกาฬสินธุ์
ครั้นถึงจุลศักราช 1245 (ปี พ.ศ. 2426) พระสุวรรณภักดี (คำดวน) เจ้าเมืองท่าขอนยางไม่พอใจจะทำราชการขึ้นกับเมืองกาฬสินธุ์ จึงขออพยพครอบครัวจากเมืองท่าขอนยาง ไปทำราชการขึ้นกับเมืองท่าอุเทน ส่วนเมืองท่าขอนยางมีแต่อุปฮาด ราชวงษ์ และกรรมการรักษาบ้านเมืองเท่านั้น
ส่วนเหตุการณ์เกี่ยวกับเมืองกันทรวิชัย นับตั้งแต่ได้ตั้งเป็นเมือง มาเป็นเวลา 8 ปี คือ จุลศักราช 1244 (ปี พ.ศ. 2425) พระปทุมวิเศษ คำมูล ได้เกิดคดีความกับเพี้ยเมืองกลาง (เมืองมหาสารคาม) จึงมีพระบรมราชโองการ ฯ ให้พระปทุมวิเศษ (คำมูล) เจ้าเมืองพระราชวงษ์เมืองทอ เมืองกันทรวิชัย กับเพี้ยเมืองกลาง (เมืองมหาสารคาม) ลงไปชำระความที่กรุงเทพ ฯ แต่ความยังไม่สำเร็จคนทั้งสองก็ถึงแก่กรรมเสียก่อนที่กรุงเทพ ฯ เมืองกันทะวิชัยคงมีแต่เพี้ยเวียงแก ผู้รับตำแหน่งอุปฮาด กับราชบุตร (ไชยสุริยา) อยู่รักษาบ้านเมือง แต่เพี้ยเวียงแก กับราชบุตร (ไชยสุริยา) เห็นว่าตนเป็นคนชรา จึงพร้อมด้วยกรมการเมือง บอกขอท้าวทองคำ (หลานพระขัติยวงษาจันทร์) เมืองร้อยเอ็ดมารับราชการตำแหน่งเจ้าเมือง และขอหลวงศรีสงคราม ว่าที่ราชวงษ์ ท้าวสีทะ ว่าที่หลวงภักดีผู้ช่วย มีตราโปรดเกล้า ฯ อนุญาตให้บุคคลทั้งสาม รับราชการตามหน้าที่ขอไป รับราชการบ้านเมืองสืบไป
ลุ ถึงจุลศักราช 1251 (ร.ศ. 108) ตรงกับปีฉลู พ.ศ. 2432 เดือน มีนาคม ผู้รักษาการเจ้าเมืองกาฬสินธุ์ (ราชวงษ์เชียงโต) และกรมการเมืองกาฬสินธุ์ มีใบบอกขอท้าวทองคำเป็น “พระปทุม”วิเศษ” ผู้ว่าการเมืองกันทะวิชัย ขอราชวงษ์หลวงศรีสงคราม เป็นอุปฮาต ขอท้าวแฮดเป็นราชวงษ์ ขอท้าวสีทะเป็นราชบุตร เมืองกันทะวิชัย ท้าวทองคำได้นำใบบอกไปเฝ้าทูลละออง ธุลีพระบาท ณ กรุงเทพ ฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้ท้าวทองคำเป็น (พระปทุมพิเศษ) ผู้ว่าราชการเมืองกันทะวิชัย ส่วนตำแหน่งอุปฮาต ราชวงษ์ ราชบุตร นั้น ก็ได้มีตราตั้งตราพระราชสีห์ ให้ตามที่เมืองกาฬสินธุ์ขอไป
เป็นอันว่าพระปทุมวิเศษ (ทองคำ) ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเมืองกันทะวิชัย เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ. 2443 เมืองกันทะวิชัยถูกยุบลง เป็นอำเภอ ชื่อว่า “อำเภอกันทรวิชัย” ต่อมาปี พ.ศ. 2456 ได้โอนอำเภอกันทรวิชัย มาขึ้นกับจังหวัดมหาสารคาม จนถึงปัจจุบัน
เดิมทีเดียวที่ว่าการอำเภอกันทรวิชัย ได้ตั้งอยู่บริเวณโรงเรียนบ้านคันธาร์ ฯ ตรงริมฝั่งหนองบัว ด้านทิศใต้ (ที่ตั้งโรงเรียนบ้านคันธาร์ ฯ ในปัจจุบัน) จนถึงปี พ.ศ. 2458 สมัยหลวงชาญรัฐกิจ (เชย) เป็นนายอำเภอ ได้รับเงินงบประมาณสร้างที่ว่าการอำเภอขึ้นใหม่ จึงได้ย้ายที่ว่าการอำเภอ จากที่เดิมมาสร้างขึ้นที่บ้านโคกพระ บริเวณที่ดินฝั่งหนองบัว ด้านทิศเหนือ คือสถานที่ตั้งที่ว่าการอำเภอในปัจจุบัน
ถึงปี พ.ศ. 2460 ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอกันทรวิชัย เป็นอำเภอ “โคกพระ” โดยอาศัยมงคลนามจากพระพุทธรูปยืน วัดบ้านโคกพระ (วัดสุวรรณาวาส) ชื่ออำเภอโคกพระนี้ เป็นที่รู้จักกันดี จนถึงปี พ.ศ. 2482 ทางราชการนิยมเปลี่ยนชื่อสถานที่ราชการ อำเภอโคกพระ จึงได้เปลี่ยนชื่อกลับมาใช้ “กันทรวิชัย” อย่างเดิมตราบเท่าทุกวันนี้
ประวัติพระพุทธมิ่งมงคล วัดสุวรรณาวาส
เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีสร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง เหมือนพระพุทธรูปยืนมงคล พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่ออำเภอกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองยางมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่ได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสองค์แล้วฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พระพุทธรูปยืนมงคล ตั้งอยู่ที่ ม.๑ ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม
พระพุทธรูปทั้งสององค์ และพระพิมพ์กันทรวิชัย เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวอำเภอกันทรวิชัย และชาวจังหวัดมหาสารคามทุกคน ไม่ว่าท่านจะกราบไหว้ขอพร หรือบนบานศาลกล่าว ก็จะได้สมใจนึกทุกประการ
ตำนานเรื่องเล่าของพระพุทธมงคล และพระพุทธมิ่งเมือง (ย่อ)
พระพุทธรูปยืนวัดสุวรรณาวาสอำเภอกันทรวิชัย มีเรื่องเล่าว่าถิ่นที่เป็นอำเภอกันทรวิชัยปัจจุบันนี้เดิมเป็นเมืองชื่อ เมืองคันธาร์ธิราช มีเจ้าเมืองขอมปกครอง ต่อมาได้กลายเป็นเมืองร้างเจ้าเมืองคันธาร์ธิราชองค์สุดท้ายชื่อ ท้าวลินทองหรือสิงห์โตดำ ท้าวสิงโตดำมีนิสัยโหดร้ายและได้แย่งราชสมบัติจากบิดาโดยจับขังและให้อด อาหารจนสิ้นชีวิตและสั่งให้ฆ่าพระมารดาที่พยายามแอบนำอาหารไปให้ ภายหลังท้าวสิงโตดำเมื่อได้ครองเมืองแล้วเกิดมีแต่ความร้อนรุ่มกระวนกระวาย โหรจึงแนะนำให้สร้างพระพุทธรูปเพื่อล้างบาป ท้าวสิงโตดำจึงได้สร้างพระพุทธรูปยืน ๒ องค์ องค์หนึ่งอยู่กลางเมืองเพื่อระลึกถึงพระบิดาปัจจุบันอยู่ที่วัดสุวรรณาวาส ใกล้ตลาดอำเภอกันทรวิชัยและอีกองค์หนึ่งอยู่นอกเมืองเพื่อระลึกถึงพระมารดา พระพุทธรูปยืนองค์นี้ปัจจุบันอยู่ใต้ต้นโพธิ์ในวัดพุทธมงคลบ้านสระ และเมื่อพระเจ้าสิงโตสิ้นชีวิตชาวเมืองได้นำไปฝังที่ป่านอกเมืองและสร้างพระ นอนเหนือหลุมฝังศพ ปัจจุบันเรียกว่า ดอนพระนอน กล่าวกันว่าผู้ใดพบเห็นพระนอนองค์นี้จะประสบโชคร้ายเนื่องจากกระแสแห่งความโหดร้ายของท้าวสิงโต ปัจจุบันนี้ไม่มีผู้ใดพบเห็นพระนอนองค์นี้อีกเลย
ประวัติพระพุทธรูปยืนมงคล วัดพุทธมงคล
เป็นพระพุทธรูปสมัยทวารวดีสร้างขึ้นด้วยหินทรายแดง เหมือนพระพุทธรูปมิ่งเมือง พระพุทธรูปทั้งสององค์นี้สร้างขึ้นในเวลาเดียวกันคือ เมื่ออำเภอกันทรวิชัยฝนแล้ง ผู้ชายสร้างพระพุทธรูปมิ่งเมือง ผู้หญิงสร้างพระพุทธรูปยืนมงคล เสร็จพร้อมกันแล้วทำการฉลองยางมโหฬาร ปรากฏว่าตั้งแต่ได้สร้างพระพุทธรูปทั้งสองค์แล้วฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล ทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่ท้องที่นี้เป็นอันมากพระพุทธรูปยืนมงคล
พระพุทธรูปยืนมงคลตั้งอยู่ที่ วัดพุทธมงคล ตำบลคันธารราษฎร์ อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคามห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
วัดพุทธมงคล
อยู่ที่บ้านสระ ตำบลคันธารราษฎร์ อำเภอกันทรวิชัย เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมงคล พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอกันทรวิชัย เป็นพระพุทธรูปหินทราย ศิลปทวาราวดี สูงประมาณ ๔ เมตร เดิมอยู่ในสภาพชำรุด ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ได้ทำการต่อเติมให้สมบูรณ์ และได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุสำคัญของชาติ เมื่อ ๘ มีนาคม ๒๔๗๘ ปัจจุบันพระพุทธมงคลได้ประดิษฐานอยู่ที่ลานโพธิของวัด รอบลานโพธิมีใบเสมาหินสมัยทวาราวดีปักล้อมอยู่สองชั้นทั้งแปดทิศ ลักษณะใบเสมาเป็นแผ่นเรียบแบน และแบบแท่งเหลี่ยม
ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก: สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดมหาสารคาม