งานนี้สิงห์นักขับ ไม่อยากจ่าย อย่าขับเร็ว เมื่อครม. อนุมัติ ให้ ปภ. จัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วรถ คุณภาพสูง แถมล้ำเทคโนโลยีสามารถเชื่อมต่อสมาร์ทโฟนมือถือ โดยจะจัดซื้อเพื่อให้สถานีตำรวจไปใช้งานทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ โดยราคาเครื่องตรวจจับความเร็วแบพกพานี้ ราคาสูงถึงเครื่องละ 9 แสนบาทเลยทีเดียว
วันนี้ (18 ต.ค.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ภายหลังรัฐบาลตั้งท่าว่าจะจัดซื้อมาใช้งานช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 แต่ก็ยืดเยื้อติดขัดมาจนถึงปัจจุบัน จนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ต.ค.ที่ผ่านมา ครม.ได้เห็นชอบตามข้อเสนอของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่กำกับกระทรวงมหาดไทย อนุมัติโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา เพื่อใช้ในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตามที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 1,064 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท เป็นเงิน 957,600,000 บาท เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในการบังคับใช้กฎหมายสำหรับสถานีตำรวจทุกสถานีจำนวน 1,465 สถานี
“การจัดซื้อดังกล่าว ปภ.ระบุว่า เพื่อใช้ในการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากเครื่องรุ่นเก่าใช้งานมานาน 15 ปี และมีการชำรุด ตามโครงการจัดหาเครื่องตรวจจับความเร็วและเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์”
สำหรับเครื่องวัดความเร็วแบบพกพา ในปัจจุบัน ปภ.ในฐานะสำนักเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนและคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พบว่า เครื่องมีความเสื่อมโทรมอย่างมาก ประสิทธิภาพการใช้งานลดลงและบางส่วนใช้งานไม่ได้ เพราะมีความถี่ในการใช้งานสูง และส่วนที่ใช้งานไม่ได้ต้องใช้งบประมาณในการซ่อมแซมจำนวนมากไม่คุ้มค่าจึงทำให้ สตช.มีเครื่องฯไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงาน
ปลายปี 59 ได้แค่เครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ 2,930 เครื่องๆละ 8 หมื่นบาทรายงานระบุว่า ก่อนหน้านั้น ครม.เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.2558 มีการอนุมัติงบประมาณจำนวน 234.4 ล้านบาท เพื่อจัดหาเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จำนวน 2,930 เครื่อง ราคาเครื่องละ 8 หมื่นบาท ไปแล้วครั้งหนึ่ง โดยใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ทั้งนี้ ให้ยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 (เรื่องการเสนอเรื่องเร่งด่วนต่อคณะรัฐมนตรี)
“แต่สำนักงบประมาณติงในส่วนของงบประมาณจัดซื้อเครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา และเครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง จำนวน 532 เครื่อง ราคาเครื่องละ 9 แสนบาท เป็นเงิน 478,800,000 บาท ซึ่งครั้งนั้นทั้ง 2 โครงการไม่ผ่านมติ ครม. โดยขอให้ มท.กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปร่วมกันทบทวนการจัดซื้อ เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่มีครุภัณฑ์พิเศษและมีราคาสูงมาก ที่ผ่านมาสถานีตำรวจทั่วประเทศ ได้ใช้เครื่องตรวจจับความเร็วอีกชนิดหนึ่งที่มีคุณลักษณะธรรมดามีราคาไม่สูง คือประมาณเครื่องละ 130,000 บาทและมีความเหมาะสมกับการใช้งานทั่วไป สามารถตรวจจับความเร็วได้ดี การดูแลรักษาง่าย ค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่สูง จึงน่าจะเหมาะสมกับสถานีตำรวจมากกว่า”
ย้อนรอย จัดซื้อ ปี 2547 และปี 2546 ปฏิบัติงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน
มีรายงานว่า เมื่อปี 2547 ครม.ยุคนั้น อนุมัติให้ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน จัดหาเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ จำนวน 836 เครื่อง และเครื่องตรวจจับความเร็ว จำนวน 350 ชุด
นอกจากนั้น ยังให้นำเงินงบประมาณที่เหลือจากการจัดซื้อเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเครื่องตรวจจับความเร็ว จำนวน 27,978,196 บาท ตามมติครม.วันที่ 23 ธันวาคม 2546 มาเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นรวม 7 รายการ ดังนี้
(1) เครื่องตรวจจับความเร็วระบบ LASER (มีระบบบันทึกภาพ) จำนวน 4 เครื่อง เครื่องละ 1,200,000 บาท (2) จัดซื้อรถมอเตอร์ไซค์ตรวจการทางหลวง (650 cc 4 จังหวะ) จำนวน 4 คัน คันละ 755,000 บาท (3) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ 4 คัน คันละ 50,000 บาท (4) จัดหาหมวกนิรภัยเด็กเพื่อการประชาสัมพันธ์การใช้หมวกนิรภัยเด็กที่ซ้อนท้ายจักรยานยนต์ จำนวน 15,000 ใบ ใบละ 200 บาท (5) ค่าจัดทำ/ผลิตหลอดเป่าลมหายใจ จำนวน 2,000,000 หลอด (6) จัดซื้อหลอดเป่าลมหายใจ สำหรับเครื่องวัดระดับแอลกอฮอล์ จำนวน 208,014 หลอด หลอดละ 14 บาท และ (7) ปรับปรุงห้องประชุมอาคาร 1 ชั้น 4 กรม ปภ.ในด้านระบบภาพและระบบเสียงเพื่อใช้เป็นห้องปฏิบัติการ (WAR ROOM) สำหรับการประชุมและการบัญชาการของคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จำนวน 1 รายการ
ขณะที่ ครม.เมื่อปี 2556 อนุมัติให้ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน จัดหาได้แก่ เครื่องตรวจจับความเร็วแบบติดตั้ง จำนวน 76 เครื่อง เป็นเงิน 91,200,000 บาท เครื่องตรวจจับความเร็วแบบพกพา จำนวน 76 เครื่อง เป็นเงิน 68,400,000 บาท และเครื่องตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์แบบยืนยันผล จำนวน 2,930 เครื่อง เป็นเงิน 351,600,000 บาท โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวนเงิน 511,200,000 บาท
สเปกเครื่องตรวจจับความเร็วระบบแสงเลเซอร์แบบมือถือ (พกพา) ฉบับปี 2560
มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า สำหรับ “เครื่องตรวจจับความเร็วระบบแสงเลเซอร์แบบมือถือ (พกพา) หรือ Laser-Speed Gun Specification” เครื่องละ 9 แสนบาท ที่ ครม.เห็นชอบ ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลภาพเคลื่อนไหวและภาพถ่ายที่ชัดเจนของรถยนต์ได้พร้อมกัน และสามารถพิมพ์ผลออกทางเครื่องพิมพ์ได้ โดยเครื่องฯ ตรวจจับความเร็วรถยนต์ผู้ตรวจสามารถเลือกมองผ่านศูนย์เล็งของเลเซอร์และจอแสดงผลได้
เครื่องต้องได้รับมาตรฐาน International Association of Chiefs of Police หรือ IACP) ตรวจจับรถยนต์เป้าหมายได้ที่ระยะไกลไม่น้อยกว่า 20-1,200เมตร สามารถมองเห็นป้ายทะเบียนรถยนต์ทั้งด้านหน้าและด้านหลังอย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 200เมตร ในเวลากลางวัน และอ่านค่าผิดพลาดไม่เกิน บวก/ลบ 20 เซ็นติเมตร สามารถตรวจวัดความเร็วได้ไม่น้อยกว่า 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ความเร็วที่อ่านได้มีค่าความผิดพลาดไม่เกิน บวก/ลบ 2 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ลำแสงเลเซอร์มีความปลอดภัยต่อสายตาตามมาตรฐาน FDA Class1 Eye safe, CFR 21 หรือเทียบเท่า
สามารถเก็บบันทึกข้อมูลทั้งภาพ วิดีโอและเหตุการณ์ต่างๆ ในตัวเครื่องมีหน่วยความจำไม่น้อยกว่า 16 GB ควบคุมการทำงานโดยระบบไมโครโพรเซสเซอร์ สามารถแสดงภาพรถพร้อมความเร็วรถ วัน เวลา สถานที่ ชื่อหรือรหัสพนักงานผู้ตรวจวัด และสามารถบันทึกข้อมูลได้ไม่น้อยกว่า 720 ภาพ
สามารถถ่ายวิดีโอและภาพรถยนต์คันนั้นๆ ได้อัตโนมัติพร้อมกัน สามารถถ่ายภาพรถยนต์ได้ในระยะไม่น้อยกว่า 200เมตร มีระบบซูมภาพเข้าและออกอัตโนมัติ และตัวกล้องมีระบบประหยัดพลังงาน สามารถเลือกโหมดการบันทึกถ่ายภาพได้ไม่น้อยกว่า 3 แบบ เช่น ถ่ายแบบแบบอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ และโดยผู้ใช้ต้องการตามคุณลักษณะ
ส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา สำหรับใช้งานตรวจสอบข้อมูลจำนวน 1 เครื่อง หน่วยประมวลผลความเร็วสัญญาณนาฬิกาไม่ต่ำกว่า 2.5 GHz หน่วยความจำหลักไม่ต่ำกว่า 4GB DDR3 จอภาพขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า 12 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 500 GB 7200 RPM SATA หรือดีกว่าฯ ส่วนเครื่องพิมพ์ภาคสนาม มีการรับรองมาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม RoFS, WEEE และมาตรฐานการประหยัดพลังงาน Energy star เป็นเครื่องพิมพ์ Inkjet มีฟังก์ชัน Picbridge ที่สามารถพิมพ์ภาพจากการเชื่อมต่อกล้องดิจิตอลหรือโทรศัพท์มือถือได้โดยตรง
ขอบคุณเนื้อหาข่าว mgronline. com