ตามที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 18-20 กันยายน 2560 เผยแพร่ข่าว “ดีลเลอร์โวย ปตท. แข่งตั้งปั๊มน้ำมันซ้ำซ้อน” บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายสุชาติ ระมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ การตลาดค้าปลีก ขอชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับแนวทางการตั้งสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และผลการดำเนินธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ในปัจจุบัน ดังนี้ ปตท.ดำเนินการขยายจำนวนสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่องครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนผ่านตัวแทนจำหน่ายหรือดีลเลอร์ ที่ต้องผ่านหลักเกณฑ์การคัดเลือกตามที่กำหนด และผ่านการพิจารณาศักยภาพและความเหมาะสมของทำเลที่ตั้งของสถานีบริการในแต่ละพื้นที่ พร้อมคำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเข้าถึงชุมชนที่อยู่ห่างไกลอย่างทั่วถึง โดย ปตท.จะคอยให้คำปรึกษาแก่ตัวแทนจำหน่ายอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดการลงทุนที่เหมาะสมตามสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วงเวลา
ปตท.ขอยืนยันว่า การกำหนดพื้นที่ตั้งสถานีบริการน้ำมันทุกแห่งผ่านการวิเคราะห์ความเหมาะสมอย่างรอบคอบแล้ว อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่อาจมีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ที่ตั้งอยู่ระยะใกล้กันในลักษณะตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกัน ก็เพื่อดูแลและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนและนักเดินทางฝั่งขาเข้าและขาออกทั้งสองกลุ่มได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีบริการน้ำมันรวมทั้งสิ้น 1,564 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งกว่า 80% เป็นของผู้แทนจำหน่ายและเป็นผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี ปตท.ยังมีแผนขยายสถานีบริการน้ำมัน โดยจะพิจารณาจากการขยายตัวของชุมชน และการเปลี่ยนแปลงเส้นทางสัญจรใหม่ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้เกิดความสะดวกและทั่วถึง
สถานีบริการน้ำมัน ปตท.มียอดขายเฉลี่ยต่อแห่งสูงเป็นอันดับที่ 1 และยังมีรายได้จากธุรกิจเสริมต่าง ๆ ภายในปั๊ม เช่น ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น ร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน เป็นต้น ส่งผลให้ในแต่ละปีมีผู้สนใจสมัครเป็นตัวแทนของ ปตท.มากกว่า 500 ราย แต่มีผู้ได้รับคัดเลือกเพียง 100 ราย หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนผู้สมัครทั้งหมด โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 70% เป็นผู้แทนจำหน่ายเดิม สะท้อนให้เห็นว่าการทำธุรกิจสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ยังดำเนินไปได้ด้วยดี
สำหรับระยะห่างของสถานีบริการน้ำมัน ปตท.และจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ตามที่ปรากฏในข่าวว่า “ปัจจุบันปั๊มน้ำมัน ปตท.ในถนนสายหลักหลาย ๆ สาย กลับมีระยะห่างกันเพียงแค่ 1 กม.เท่านั้น” เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน โดยหากตรวจสอบจากเว็บไซต์ www.PTTMAP.com ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบและค้นหาสถานีบริการ ปตท.ได้ด้วยตัวเองนั้น จะเห็นว่าในพื้นที่ที่กล่าวถึงมีสถานีบริการ ปตท.จำนวนหลายสถานีจริง แต่เป็นทั้งสถานีบริการน้ำมัน สถานีบริการ LPG และสถานีบริการ NGV สลับกันไป เพื่อรองรับกลุ่มคนใช้รถยนต์ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ในบางพื้นที่สถานีบริการเปิดใกล้เคียงกันนั้น เนื่องจากรองรับปริมาณรถทั้งขาเข้าและขาออก (คนละฝั่งถนน) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน โดยจำนวนสถานีบริการน้ำมัน ปตท.บนถนนสายต่าง ๆ เป็นดังนี้
บนถนนทางหลวงหมายเลข 2 อำเภอปากช่อง-อำเภอเมืองนครราชสีมา ตั้งแต่อำเภอปากช่อง กม.ที่ 39 ถึง กม.ที่ 146 รวมระยะทาง 107 กม. มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. 11 สถานี ซึ่งมีระยะห่างแต่ละสถานีตั้งแต่ 9 กม., 11 กม., 14 กม., 21 กม., 33 กม., 34 กม. และ 40 กม. บนถนนสายรอง ตั้งแต่อำเภอด่านขุนทด-อำเภอโชคชัย ไปจนถึงอำเภอเมืองนครราชสีมา มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ระยะห่างตั้งแต่ 77 กม., 33 กม., 32 กม., 25 กม., 36 กม. และ 27 กม. ถนนทางหลวงหมายเลข 24 อำเภอโชคชัย-อำเภอเดชอุดม มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท. 15 สถานี ถนนบุรีรัมย์-นางรอง มีสถานีบริการน้ำมัน ปตท.ระยะห่างตั้งแต่ 33 กม., 35 กม., 37 กม. และ 50 กม.
นอกจากนี้ที่ข่าวระบุว่า ปตท.มีจำนวนสถานีบริการกว่า 1,700 แห่งนั้น แท้จริงแล้วสามารถแบ่งได้เป็นสถานีบริการน้ำมัน ปตท.1,564 แห่งเท่านั้น (โดยในจำนวนนี้เป็นสถานีบริการน้ำมัน PTTRM จำนวน 149 แห่ง) หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติเปิดสถานีบริการน้ำมัน ปตท. มีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติที่ชัดเจนและตรวจสอบได้ ปตท.คำนึงถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจ ชุมชน และแผนการพัฒนาต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า ชุมชน และพฤติกรรมการเข้ารับบริการเป็นหลัก อีกทั้งยังพิจารณาผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสถานีบริการในบริเวณใกล้เคียง ดังนั้นการขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมัน ปตท.จึงให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้า และชุมชนที่รับบริการมากกว่าการกำหนดระยะห่างระหว่างสถานีบริการ ซึ่งอาจไม่ตอบสนองพฤติกรรมการใช้บริการ
ที่มา: prachachat