ปางช้าง “ช้างทองคำ” มหาสารคาม สถานที่ท่องเที่ยวอีสานที่กำลังโด่งดังในขณะนี้
ปางช้างที่มีมานานกว่า 9 ปี แต่เพิ่งเปิดให้เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์หนึ่งเดียวของ จ.มหาสารคาม ตั้งอยู่ที่บ้านนาข่า อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม (เดินทางใช้เส้นทางหมายเลข 4007 บรบือ-นาข่า-นาดูน)
ช้างที่นี่เป็นช้างที่ถูกช่วยเหลือมาจากที่ต่างๆทั่วไทย ปัจจุบันมีช้างอยู่ประมาณ 20 เชือก(ฝากเลี้ยงกับที่อื่นจำนวนหนึ่ง) ที่สำคัญที่สุดก็คือที่นี่คือแหล่งผลิต “กาแฟขี้ช้าง” ที่โด่งดังไปทั่วโลก และมียอดสั่งซื้อสูงจนผลิตไม่ทัน มีร้านกาแฟอยู่ด้านหน้าปางช้าง ด้านในมีธรรมชาติที่สวยงามที่เหมาะให้ช้างอยู่อาศัย ที่สำคัญช้างจะถูกเลี้ยงแบบไม่มีควาญช้างที่ใช้ขอสับให้ช้างทรมานเจ็บปวด ซึ่งเป็นประเด็นที่ผมเองชอบมาก เพราะถ้าเราได้เห็นช้างแสนรู้ตามที่ท่องเที่ยวต่างๆนั้น ล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการฝึกฝนที่ต้องทำให้ช้างได้รับความทรมานและเจ็บปวดทั้งนั้น เนื่องจากช้างโดยธรรมชาติเป็นสัตว์ที่คอนข้างดุร้ายและหวงแหนในพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย
ถ้าคุณได้เข้าไปที่นี่ ไปรู้จักช้างแต่ละตัว ไปรู้ถึงกระบวนการผลิตกาแฟ และได้ชิมลิ้มลองกาแฟของที่นี่แล้ว จะรักช้างมากขึ้นกว่าเดิมอีก 100 เท่า !!
จุดหนึ่งที่ผมอาจจะต้อง Note เอาไว้ให้ทุกคนที่ได้อ่านกระทู้นี้ได้เข้าใจช้างของที่นี่เป็นพิเศษว่า… ช้างทั้งหมดที่ได้รับการช่วยเหลือ(ส่วนใหญ่โดยการซื้อ)มาจากการที่ช้างได้มีประวัติการก่อเหตุทำร้ายควาญมาก่อน ปางช้างท่องเที่ยวทั่วไปเขาก็ไม่อยากที่จะเอาช้างเชือกนั้นไว้ เพราะอาจจะทำให้เสียชื่อเสียงได้
นั่นคือที่มาของช้างทั้งหมดทุกเชือกที่นี่ และที่สำคัญคือช้างส่วนใหญ่ที่ช่วยมานั้น เป็นช้างเพศผู้ เนื่องจากจะเป็นช้างที่ดุร้ายกว่าตัวเมีย ในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆทั่วไทยที่เราเห็นช้างที่เชื่องๆและเป็นมิตรล้วนแล้วแต่เป็นช้างเพศเมียทั้งนั้น เมื่อช้างเพศผู้และช้างเพศเมียต้องแยกกันอยู่แบบนี้ จึงเป็นต้นเหตุที่ทำให้ช้างมีอัตราการขยายพันธุ์ต่ำมากๆครับ
นี่คือเจ้าของปางช้าง คุณธนบดี พรหมสุข
คนหนุ่มที่ทุ่มเทกับช้างและกำลังทุ่มเททีมฟุตบอล”จัมปาศรียูไนเต็ด” ทีมใหม่ที่กำลังก่อตั้งและเป็นข่าวโด่งดังของวงการฟุตบอลไทยอยู่ในขณะนี้
ช้างเชือกนี้อายุประมาณ 80 ปี แก่มากแล้วครับ ให้อยู่ตรงนี้เดี่ยวๆเลย
อีกส่วนหนึ่งซึ่งได้เกิดขึ้นมาตามกระแสนิยม นั่นก็คือ “กาแฟขี้ช้าง” ซึ่งถือว่าเป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงช้างที่นี่ คุณวี/ธนบดี ผู้เป็นเจ้าของได้บอกกับผมว่าช้างแต่ละเชือกกินอาหารเยอะมาก กินทั้งวัน กินตลอดเวลา ทำให้มีค่าใช้จ่ายค่าอาหารสูงตามไปด้วย เมื่อมีกระแสของกาแฟขี้ช้างจากทางภาคเหนือ จึงได้ลองศึกษาและทดลองผลิตดู จนในวันนี้ได้กลายเป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์และรายได้หลักของที่นี่
สำหรับขั้นตอนในการทำกาแฟขี้ช้างมีดังนี้ครับ…
– เริ่มจากการคัดเลือกเมล็ดกาแฟไทยอาราบิก้า กาแฟสุกแดงจัด (ผลเชอรี่) สายพันธุ์ อราบิก้า ที่ปลอดสารเคมี จากแหล่งเพาะปลูก จากดอยสวนยาหลวง บ้านสันเจริญ อ.ท่าวังผา จ.น่าน ที่ระดับความสูง 1,300 – 1,450 เมตร จากระดับน้ำทะเล
– แล้วนำมาให้ช้างกิน ซึ่งช้างต้องกินเมล็ดกาแฟ ประมาณ 33 กิโลกรัม เมื่อช้างขับถ่ายออกมาจะได้ผลผลิต 1 กิโลกรัมแค่นั้น
– ควาญช้างจึงต้องคอยสังเกตดูว่าช้างจะขับถ่ายออกมาเมื่อใด เมื่อกระเพาะของช้างทำการย่อย ผิวเปลือกและเยลลี่ของผลกาแฟสุก แต่ไม่ได้ย่อยตัวเมล็ดกาแฟกะลา ควาญช้างก็จะนำไปตากแห้ง ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับพฤติกรรมการกินแบบปกติ แต่รอให้ช้างกินผลกาแฟโดยสมัครใจ
– เมื่อช้างขับถ่ายออกมา จะทำการเก็บคัดแยกเมล็ดกาแฟ เพื่อนำไปผ่านกระบวนการผลิตในแต่ละขั้นตอนจนเป็นผลิตภัณฑ์ กาแฟขี้ช้าง
– และขณะนี้ กาแฟขี้ช้างไทย ดังไกลทั่วโลก ที่สำคัญก็คือแพงที่สุดในโลกด้วย
(กาแฟขี้ช้างที่นี่ ราคา 400,000/กก. และขายแก้วละ 400 บาท)
มาดูบรรยากาศของทีมงานที่เข้าไปเยี่ยมชมในวันนั้นครับ นำทีมโดย ททท. บล็อกเกอร์,ช่างภาพ,สื่อ และคนทั่วไป เล่นเอาบาริสต้าชงกาแฟกันไม่ทันเลยทีเดียว
สุดท้าย..สิ่งที่อยากจะฝากไว้ให้เพื่อนๆที่ผ่านไปท่องเที่ยวที่นั่นให้ทราบกันก็คือ การไปที่นี่ ห้ามคาดหวังว่าจะได้เข้าไปใกล้ช้าง / ให้อาหารช้าง /ถ่ายรูปใกล้ๆ คู่กับช้าง / หรืออะไรก็ตามที่เราเคยเที่ยวเคยทำที่ปาง/เพนียดช้างที่อื่นๆของไทย เพราะช้างที่นี่ล้วนมีอดีต มีความดุร้าย ไม่งั้นคงไม่ได้มาอยู่กันที่นี่ อยากให้เราเปิดใจมองช้างของไทย ว่าถูกทรมานมามากมายทั้งนั้น น้อยที่มากๆที่จะมีการเลี้ยง/ดูแลช้างแบบนี้ เพราะส่วนใหญ่จะเลี้ยงเพื่อเน้นการท่องเที่ยวและรายได้เป็นหลัก
แต่มาที่นี่..เรามาเพื่อทำความเข้าใจช้าง ทำความเข้าใจคนที่รักที่ดูแล และทุ่มเทให้กับช้างไทย ที่นับวันเหลือน้อยลงเรื่อยๆเพราะตัวผู้-ตัวเมียต้องถูกจับแยกไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการค้าและท่องเที่ยว ถ้าพวกเราได้ไปฟังจากปากของคุณวี/ธนบดีพูดด้วยตัวเองแล้ว …
..เราจะเข้าใจและรักช้างไทย..มากยิ่งขึ้น
ขอบคุณครับ
ที่มา สมาชิกเว็บไซต์ pantip โดยคุณ โกโก้น้อย