ผลไม้รถเข็น แม้จะเป็นเมนูโปรดของใครหลายๆ คน เพราะมีให้เลือกหลากหลายและสะดวกในการกินเพราะคนขายปอกมาให้เรียบร้อย แต่รู้หรือไม่ว่าภัยเงียบของมันไม่ได้มีเพียงแค่เชื้อสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพื่อหาคำตอบของเรื่องนี้ ทีมข่าว MGR Live ได้ติดต่อไปยัง อ.สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการเชี่ยวชาญอิสระ ที่ปรึกษากรมอนามัย และผู้ทรงวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาให้ความรู้และตีแผ่พิษภัยของผลไม้รถเข็นที่ไม่ถูกสุขอนามัยว่ามีอะไรบ้าง
“สุขลักษณะของรถเข็นผลไม้ที่ถูกหลัก มันเริ่มมาตั้งแต่การวางถัง คุณเอาถังใส่ผลไม้แล้วไปวางอยู่กับพื้น อันนั้นไม่เหมาะสมแน่นอน เพราะหลักการของสุขาภิบาลอาหาร ว่าอาหารที่วางขายอยู่ริมฟุตปาธหรือริมถนนจะต้องสูงกว่าพื้นประมาณ 60 เซนติเมตร เวลาวางกับพื้น โอกาสที่เราเปิดมาหรือเปิดฝาไว้ แล้วพวกฝุ่นละอองเข้ามาสัมผัสมันก็มีสูง
ต่อมา ภาชนะที่ใส่ผลไม้แล้ว ต้องสะอาด ปราศจากเชื้อรา น้ำแข็งที่เอามาแช่ก็ต้องสะอาด หลายครั้งเชื้อโรคมันจะมากับน้ำแข็ง มันก็เลยติดปนเปื้อนไปกับผลไม้ได้ ส่วนผลไม้ที่เอามาวางขาย เมื่อปอกแล้วต้องล้าง อย่างมะม่วง โดยปกติแล้วปอกกันแล้วก็เฉาะๆ ไม่ล้างหรอก โอกาสที่จะติดเชื้อจากมีด จากมือของคนปอกมันก็มีสูง เพราะฉะนั้นต้องเอามาล้าง แล้วพอล้างเสร็จเรียบร้อยก็เอาไปไว้ในสถานที่ที่มันป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปปนเปื้อนได้”
แต่ถ้าเป็นผลไม้แช่อิ่ม หรือแม้กระทั่งผลไม้สดอย่างฝรั่งและมะม่วง บางร้านพอปอกแล้วก็เอาไปชุบน้ำสี มือคนขายก็เขียวปี๋เลย ถ้าเขาใช้สีผสมอาหารก็แล้วไป แต่ถามว่าทำไมเราไม่กินผลไม้แบบธรรมดาล่ะ แล้วก็อีกอันนึงคือเอาไปแช่พวกขัณฑสกร เพื่อให้มันหวาน ให้มันกรอบ สารพวกนี้มันเป็นสารที่กินเข้าไปแล้วมากมันก็อันตราย อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับคนซื้อที่ต้องพิจารณาตัวเองว่าจะกินผลไม้สด หรือผลไม้แช่อิ่มที่แช่พวกน้ำบ๊วยหรือแช่อะไรต่อมิอะไร”
ไม่เพียงแค่ผลไม้และอุปกรณ์ที่ใช้ปอกเท่านั้น ปัจจัยถัดมาก็คือคนขาย อ.สง่า กล่าวว่า มือของคนขายต้องไม่มีแผล ในกรณีของคนขายที่ไม่ได้ล้างมือก่อนมาปอกผลไม้ แน่นอนว่าย่อมเสี่ยงติดเชื้อ ในขณะเดียวกับ แม้บางเจ้าจะสวมถุงมือ แต่พอถึงตอนทอนเงินก็ไม่ได้ล้างหรือถอดถุงมืออยู่ดี ตรงนี้เลยมีโอกาสที่จะปนเปื้อนได้
และอีกอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือเครื่องจิ้มต่างๆ ทั้งพริกเกลือ กะปิหวาน ซึ่งบางเจ้าก็ใส่ผงชูรสเยอะมาก การกินผลไม้ไม่ควรจะใช้พริกเกลือมากจนเกินไป หรือไม่ใช้เลยจะดีที่สุด ผลไม้ที่มันหวานอยู่แล้ว เช่น ฝรั่ง มันมีความหวานกรอบอยู่ในตัว ยกเว้นผลไม้รสเปรี้ยวก็อาจจะจิ้มเกลือได้
“ผมไม่ส่งเสริมและไม่แนะนำให้จิ้มเกลือด้วยเหตุผลอยู่ 2-3 ข้อ คือ 1. เกลือที่เอาไปจิ้ม เท่ากับเราได้โซเดียมเพิ่มขึ้นเพราะมันเค็ม ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง โรคไต ไตทำงานหนัก การจิ้มเกลือแต่ละครั้งถือว่ามันเค็มปี๋เลยนะ 2. การจิ้มเกลือนั้น บางทีเขาก็ใส่ผงชูรสด้วย 3. ได้น้ำตาลโดยใช้เหตุ เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจิ้มก็ได้ หรือถ้าจะจิ้มก็จิ้มแต่พอดี ตัวผมเองผมไม่เคยจิ้มเลย เวลากินผลไม้กินสดๆ ครับ”
สุดท้ายนี้ ที่ปรึกษากรมอนามัย ได้ฝากคำแนะนำถึงการเลือกกินผลไม้รถเข็น ที่ต้องดูให้ถี่ถ้วนในเรื่องของความสะอาด ตั้งแต่คนขายไปจนถึงสินค้า และฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาส่งเสริมอาชีพนี้ให้ถูกสุขลักษณะเสียที เพราะปัจจุบันคนไทยกินผลไม้กันน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต่ำและเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่ายขึ้น
“ผมมองเรื่องนี้ 2 มุม ใจนึงผมอยากจะให้มีรถเข็นผลไม้เยอะๆ เพื่อที่จะทำให้คนเข้าถึงผลไม้ง่ายขึ้น ทุกวันนี้คนกินผักและผลไม้น้อยมาก เมื่อกินไม่พอ ภูมิคุ้มกันต่ำ โอกาสที่จะได้ใยอาหารมันน้อย แต่ ณ วันนี้จุดอ่อนคือ รถเข็นผลไม้ที่มีอยู่ก็ไม่ค่อยเห็นมีหน่วยงานไหนเข้ามาควบคุมแล้วดูแลให้มันสะอาด ปลอดภัย เหมือนกรณีที่ออกข่าวมา ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ต้องส่งเสริม
ส่วนวิธีการเลือกซื้อ ให้สังเกตอันดับแรก ต้องดูร้านที่ดูดี สังเกตด้วยสายตาได้ สำหรับผม ผมสังเกตคนขายก่อน อันที่สองผมจะสังเกตดูรถเข็น แล้วก็ถังที่บรรจุผลไม้ แล้วอันที่สามผมจะสังเกตเขียงที่เขาเฉาะ ถ้าดูดีแล้วผมก็จะซื้อเลย”
ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา