อธิบดี สถ.คลายข้อสงสัย ผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแล้ว ก็สามารถรับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ ไม่ผิดหลักเกณฑ์
มื่อวันที่ 1 เม.ย.61 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่ง ยังมีความสับสนว่ากรณีที่ผู้สูงอายุ และได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐด้วยนั้น จะถือว่าเป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ และทำให้ขาดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 หรือไม่ ก็ต้องขอเรียนว่าสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพของผู้สูงอายุเป็นรายเดือนนั้นเป็นไปตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 มาตรา 11 (11) และนายกรัฐมนตรีได้ประกาศกำหนดให้หน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนให้แก่ผู้สูงอายุอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้วางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติมถึง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 โดยข้อ 6 (4) กำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไว้ว่า ไม่เป็นผู้ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นใดจากหน่วยงานของรัฐ
รัฐวิสาหกิจหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ ผู้รับเงินบำนาญเบี้ยหวัด บำนาญพิเศษหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำ หรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ ฯลฯ ซึ่งสิทธิของผู้สูงอายุที่ได้รับเงินเบี้ยยังชีพดังกล่าว จะสิ้นสุดลงเมื่อเข้าเงื่อนไขกรณีใดกรณีหนึ่งตามข้อ 14 ของระเบียบนี้ นั่นคือ 1. ตาย 2. ขาดคุณสมบัติตามข้อ 6 และ 3. แจ้งสละสิทธิการขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นหนังสือต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ
สำหรับกรณีที่มีการจัดให้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ก็เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี โดยให้การช่วยเหลือเป็นบัตรสวัสดิการนำไปใช้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นหรือก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่ถูกกำหนดไว้ และค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟตามที่กำหนดเท่านั้น ส่วนกรณีการรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุมีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ ได้ตามความเหมาะสมของผู้สูงอายุนั้น ซึ่งประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้รับจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในลักษณะที่กล่าวมาข้างต้น มิได้มีลักษณะเช่นเดียวกับลักษณะต้องห้ามของผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้นการได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จึงมิใช่ลักษณะต้องห้ามในการมีสิทธิรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ตามข้อ 6 (4) ของระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เพื่อเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2552 กรมฯได้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ทราบและถือปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันเรียบร้อยแล้ว
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก