ตกงานหรือโดนเลิกจ้าง ไม่ต้องตกใจ ตั้งสติดี ๆ แล้วมาดูกันว่าเราจะได้เงินชดเชยอะไรบ้างจากนายจ้าง และประกันสังคม
มนุษย์เงินเดือนทุกคน คงไม่มีใครอยากให้ตัวเองตกงานหรือถูกเลิกจ้าง เพราะงานสมัยนี้ใช่ว่าจะหากันได้ง่าย ๆ แต่เราก็มักจะยังได้เห็นข่าวการเลิกจ้างพนักงานของบริษัทต่าง ๆ อยู่บ่อย ๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลของการปรับโครงสร้างองค์กร ลดต้นทุน ย้ายฐานผลิต หรือแม้แต่ผลประกอบการที่ไม่ค่อยดี ซึ่งหากเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับเรา นอกจากจะต้องเตรียมตัวเพื่อรีบหางานใหม่แล้
การได้รู้ว่ามีสิทธิอะไรบ้างที่เราควรได้รับเมื่อถูกบอกเลิกจ้าง เพื่อรักษาประโยชน์ของตนเอง ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันเลย เพราะฉะนั้นกระปุกดอทคอมจึงได้รวบรวมมาให้ดูกันว่า หากถูกเลิกจ้างแล้วประกันสังคมจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง แล้วมีเงินชดเชยส่วนไหนอีกหรือเปล่าที่เราควรได้รับ มาดูกันเลย
ถูกเลิกจ้างได้เงินชดเชยเท่าไหร่ ?
ก่อนที่จะไปดูความช่วยเหลือจากประกันสังคม เรารู้ไหมว่าจริง ๆ แล้ว หากเราถูกให้ออกจากงานโดยไม่ได้สมัครใจ และไม่ได้เกิดจากการที่เรากระทำผิด เราจะยังได้เงินชดเชยจากนายจ้างอีกด้วย ตามที่กฎหมายแรงงานให้ความคุ้มครอง ดังนี้
– ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ถึง 1 ปี ได้รับเงินชดเชย 30 วัน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย
– ทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ถึง 3 ปี ได้รับเงินชดเชย 90 วัน เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย
– ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ถึง 6 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน
– ทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ถึง 10 ปี ได้รับเงินชดเชยเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้าย 240 วัน
– ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน
– ทำงานติดต่อกันครบ 20 ปีขึ้นไป ได้รับเงินชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 400 วัน (ผ่านร่างกฎหมายแล้ว อยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา)
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วเงินทดแทนการเลิกจ้าง ทางนายจ้างจะต้องดำเนินการจ่ายให้ลูกจ้างภายในวันสุดท้ายที่ทำงานอยู่แล้ว แต่หากนายจ้างไม่ดำเนินการจ่ายค่าชดเชย เราสามารถยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน ได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในแต่ละจังหวัด ส่วนกรุงเทพฯ ยื่นได้ที่กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องการจ่ายเงินชดเชยนี่ก็มีข้อยกเว้น เพราะหากเราออกจากงานด้วยสาเหตุดังต่อไปนี้ นายจ้างก็ไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง
– ลูกจ้างลาออกเองโดยสมัครใจ
– มีการทุจริตต่อนายจ้าง หรือทำความผิดอาญา
– จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
– ทำการประมาทเลินเล่อจนทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
– ฝ่าฝืนระเบียบการทำงาน โดยที่นายจ้างได้ออกหนังสือเตือนไปแล้ว
– ละทิ้งการทำงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร
– ได้รับโทษจำคุก ตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก
– รูปแบบการจ้างงานมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
ถูกเลิกจ้าง ประกันสังคมช่วยเหลือได้ไหม ?
นอกจากจะได้รับเงินชดเชยจากนายจ้างแล้ว หากเราเป็นผู้ว่างงานและได้ทำประกันสังคมเอาไว้ ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือระหว่างการว่างงานจากประกันสังคมปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตรา 50% ของค่าจ้างเฉลี่ย โดยคำนวณจากฐานเงินสมทบขั้นต่ำเดือนละ 1,650 บาท และฐานเงินสมทบสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท
ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ย 10,000 บาท จะได้รับเดือนละ 5,000 บาท หรือถ้าเรามีเงินเดือนเฉลี่ยสูงกว่า 15,000 บาท ก็จะได้รับเงินช่วยเหลือที่อัตราสูงสุด คือ 7,500 บาท เป็นเวลา 6 เดือน
ทั้งนี้ คนที่มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนการว่างงานกับนายจ้างรายสุดท้าย รวมทั้งต้องไม่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้
– ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
– จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
– ฝ่าฝืนข้อบังคับ ระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายในกรณีร้ายแรง
– ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 7 วันทำงานติดต่อกัน โดยไม่มีเหตุอันควร
– ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
– ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษา
– ต้องไม่ใช่ผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ
ลงทะเบียนขอรับประโยชน์ทดแทนจากประกันสังคมอย่างไร
– สามารถขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ได้ที่เว็บไซต์สำนักงานจัดหางาน ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ลาออกหรือถูกเลิกจ้าง หรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง
– สามารถยื่นแบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานได้ที่สำนักงานประกันสังคม กรุงเทพมหานครพื้นที่/สำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาทั่วประเทศ (ยกเว้น สำนักงานใหญ่ในบริเวณกระทรวงสาธารณสุข) ในวันและเวลาราชการ
ถูกเลิกจ้างต้องใช้เอกสารอะไรบ้างไปยื่นประกันสังคม
1. แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (สปส. 2-01/7)
2. หนังสือรับรองการออกจากงานหรือสำเนาแบบแจ้งการลาออกจากงานของผู้ประกันตนออกจากงานของผู้ประกันตน (สปส. 6 -09)
3. หนังสือหรือคำสั่งของนายจ้างให้ออกจากงาน (ถ้ามี)
4. หนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน เนื่องจากเหตุสุดวิสัยกรณีเป็นผู้ประกันตนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย
5. สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารประเภทออมทรัพย์หน้าแรกซึ่งมีชื่อและเลขที่บัญชีของผู้ประกันตน
สำหรับใครที่ไปยื่นขอรับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากประกันสังคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต้องมีการรายงานตัวผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ของสำนักงานจัดหางาน ทุก ๆ เดือน เพื่อให้มีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือจากประกันสังคมต่อไป