นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561 จนถึงปัจจุบัน คาดปริมาณฝนในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน 2562 จะน้อยกว่าปกติ พร้อมสั่ง!ทุกจังหวัดเตรียมพร้อมป้องกันและแก้ปัญหาแล้ว
พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สั่งการให้ทุกจังหวัดเร่งดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงในระยะเร่งด่วน โดยให้จังหวัดประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนถึงสถานการณ์น้ำ รวมทั้งรณรงค์ใช้น้ำอย่างประหยัด โดย
.
– ให้ทุกจังหวัดเร่งสำรวจและจำแนกพื้นที่เสี่ยงภัยให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค พื้นที่เสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร โดยให้การประปาส่วนภูมิภาค ประปาท้องถิ่นและประปาหมู่บ้าน ตรวจสอบปริมาณน้ำดิบต้นทุนหากพบว่าจุดใดเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำและไม่สามารถผลิตหรือแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชน
.
– ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดบริหารจัดการเครื่องจักรกลสาธารณภัยของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่ รวมทั้งเครื่องจักรกลของ อปท. ภาคเอกชน และหน่วยทหาร เพื่อจัดรถบรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล
.
– เพิ่มปริมาณน้ำดิบผลิตเป็นน้ำประปาให้เพียงพอและแจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่ประชาชน รวมทั้งบรรจุในภาชนะเก็บกักน้ำกลางประจำหมู่บ้าน
.
นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้เชิญ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และ ผู้บริหารระดับสูง หารือถึงสถานการณ์ภัยแล้ง ว่าเป็นเรื่องด่วนที่นายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ได้แสดงความห่วง และมอบหมายให้เร่งรัดแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน
ภาพรวมขณะนี้หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง และ ปภ.ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สิ่งที่กำชับให้ดำเนินการทันที คือ น้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน จึงสั่งระดมทั้งรถบรรทุกน้ำ และเครื่องจักรต่างๆ ส่งไปช่วยเหลือในจุดวิกฤต
ส่วนน้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์มีมาตรการช่วยเหลือแล้วเช่นกัน
.
– สำหรับจังหวัดใดที่ประกาศเขตพื้นที่ภัยพิบัติแล้ว ถือเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณฉุกเฉินช่วยเหลือประชาชนได้โดยตรง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดใช้เงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยด่วน
.
– ถ้าเป็นความเสียหายด้านการเกษตร ให้จำแนกความเสียหายเป็นพื้นที่ประเภท เช่น นาข้าว พืชสวน พืชไร่ หากพื้นที่ใดมีข้อจำกัดวงเงินทดรองราชการไม่เพียงพอ ให้รายงานไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป สามารถติดต่อแจ้งสายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มา สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์