การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาศักยภาพคน การพัฒนาสินค้าและบริการให้มีความพร้อมปรับเปลี่ยนไปสู่ชุมชนท่องเที่ยว และเป็นฐานสำคัญในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ ทำให้เกิดความเข้มแข็งและยั่งยืน รวมถึงการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกระแสหลักสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นกลไกก่อให้เกิดการค้าขายสินค้าและบริการที่มาจากภูมิปัญญาวิถีชีวิต วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของคนในชุมชน จะเกิดการกระจายรายได้ทุกภาคส่วน โดยคนในชุมชนไม่ต้องออกไปแสวงหารายได้จากภายนอก นับเป็นแบบการท่องเที่ยวทางเลือกหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
น.ส.ปริศนา โกลละสุต พัฒนาการจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม ได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการยกระดับการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมครบวงจร นำร่อง 3 หมู่บ้าน ได้แก่ 1.บ้านดงน้อย หมู่ 4 ต.พระธาตุ อ.นาดูน 2.บ้านหัวขัว หมู่ 4 ต.แกดำ อ.แกดำ และ 3.บ้านแพง หมู่ 1 ต.แพง อ.โกสุมพิสัย กิจกรรมที่ดำเนินการไปแล้ว อาทิ เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้มีส่วนร่วมในพื้นที่ 3 หมู่บ้าน ระดมความคิดค้นหาและสร้างมูลค่าเพิ่มจากอัตลักษณ์ของชุมชน โดยพัฒนาศักยภาพให้สถานที่ สินค้า และการบริการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว มีการประเมินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน และกิจกรรมส่งเสริมช่องทางการตลาดระดับจังหวัด โดยการจัดแสดงนิทรรศการและผลงานหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน 3 หมู่บ้าน ณ ศูนย์การค้าเสริมไทยคอมเพล็กซ์ จ.มหาสารคาม
การเปิดหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชนได้มีการนำคณะกรรมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน จากทั้ง 3 หมู่บ้าน หมุนเวียนกันเดินทางไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะมีเอกลักษณ์ที่เป็นจุดแข็งแตกต่างกันไป อาทิ “บ้านดงน้อย” หมู่ 4 ต.พระธาตุ อ.นาดูน จะเป็นการท่องเที่ยววิถีชีวิตของคนในชุมชน มีฐานการเรียนรู้วิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง และการอนุรักษ์ป่าไม้ กิจกรรมปลูกป่า บวชต้นไม้ เพาะกล้ายางนา เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ทำจากไม้ ผ้าทอมือ ผ้าขาวม้า เป็นต้น
สถานที่ท่องเที่ยวทางโบราณคดี อาทิ “กู่สันตรัตน์” เทวสถานสมัยขอม อายุกว่า 700 ปี และ “พระบรมธาตุนาดูน” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่อำเภอนาดูน และเมืองมหาสารคาม ชม “ฮูปแต้มโบราณ” หรือ “จิตรกรรมฝาผนัง” วัดป่าเรไร และวัดบ้านดงบัง เป็นต้น
การท่องเที่ยว “หมู่บ้านบ้านแพง” หมู่ 1 ต.แพง อ.โกสุมพิสัย ถือเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงใน “การทอเสื่อกก” ในแต่ละปีผลิตภัณฑ์จากกก สร้างรายได้เข้าชุมชนแห่งนี้ปีละนับร้อยล้านบาท ดังนั้นเมื่อเข้ามาท่องเที่ยวในหมู่บ้าน จะได้เห็นขั้นตอนการทอเสื่อกกที่เป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านแพง ทุกขั้นตอนตั้งแต่คัดเลือกต้นกกไปจนถึงการทอกกเป็นผืน โดยนักท่องเที่ยวสามารถลงมือทดลองทอดูได้
นอกจากนี้ มีสถานที่ท่องเที่ยวทางพุทธศาสนาที่สำคัญ คือ “วัดไชยประสิทธิ์” นักท่องเที่ยวจะได้ชม บาตรพระจำลองขนาดใหญ่ ถึง 3 ใบ มี 3 สี คือ ดำ ขาว และสีทอง เป็นบาตรน้ำมนต์สำหรับให้ญาติที่มาปฏิบัติธรรมได้อาบเพื่อความเป็นสิริมงคล
และ “บ้านหัวขัว” หมู่ 4 ต.แกดำ อ.แกดำ มีจุดเด่นคือ “สะพานไม้แกดำ” เป็น “สะพานไม้เก่าแก่อายุเกือบร้อยปี” ความยาวประมาณ 1 กม. สร้างขึ้นมาเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง 2 หมู่บ้าน สองฟากฝั่งของหนองแกดำ คือ ฝั่งบ้านแกดำ และฝั่งบ้านหัวขัว ใช้เดินทางไปมาหาสู่กันนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน มีกิจกรรมปั่นจักรยานรอบ ๆ หนองน้ำแกดำ พร้อมชมนกน้ำจำนวนมากที่มาหากินภายในหนองน้ำแห่งนี้ มีการแสดง “เซิ้งกระโจม” เป็นประเพณีการขอฝนในท้องถิ่น เที่ยวชมซื้อผักปลอดสารพิษ ช่วงกลางคืนร่วมชมหิ่งห้อยจำนวนมาก เพราะแถบนี้ธรรมชาติยังอุดมสมบูรณ์ รวมถึงมีโฮมสเตย์ 12 หลัง รองรับนักท่องเที่ยวที่ปรารถนาอยากสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน
นายปฏิมา เหล่าชัย นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดมหาสารคาม เปิดเผยว่า จุดเด่นของมหาสารคามนอกจากจะเป็นเมืองการศึกษาแล้ว ยังเด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรม แต่ที่ผ่านมายังไม่ได้นำออกมาใช้อย่างเต็มที่
นอกจากงานบุญประเพณีประจำปี โครงการนี้จะทำให้ชุมชนสามารถนำจุดแข็งทั้งด้านศิลปวัฒนธรรม ประเพณี งานหัตถกรรมพื้นบ้าน สถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มาบริหารจัดการเพิ่มมูลค่าให้กับหมู่บ้าน เกิดการเชื่อมโยงประเพณี โดยเฉพาะชาวอีสานที่ยึดถือประเพณี 12 เดือน และความผูกพันความเชื่อมโยงกับงานทางด้านพุทธศาสนากับศิลปวัฒนธรรม เป็นโครงการที่ดีและเห็นด้วยที่จะมีการต่อยอดให้กับชุมชน เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรมกระจายรายได้สู่ชุมชนให้ยั่งยืน
การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมตามศักยภาพของหมู่บ้าน จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน ก่อให้เกิดรายได้ ประชาชนมีความสุขอย่างยั่งยืน ทางสมาคมจึงเข้าไปให้การสนับสนุนเต็มที่โดยอาจจะมีการจัดโปรแกรมเพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาสร้างรายได้ให้ท้องถิ่น สำหรับมหาสารคามมีรายได้หมุนเวียนจากการท่องเที่ยวประมาณปีละ 1 พันล้านบาทเศษ นักท่องเที่ยวรวมกว่า 7 แสนคน หากมีการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างต่อเนื่องมั่นใจว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์ จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าพื้นที่มากขึ้น
ข้อมูลจาก