สมาคมผู้ส่งออกชี้ปีทองคนมีข้าวหอมมะลิ คาดราคาสูงสุดประวัติศาสตร์ ด้านชาวนาหัวใสไร่นาเสียหายจากภัยธรรมชาติไม่แจ้ง เหตุได้รับค่าชดเชยกว่า 1,113 บาทต่อไร่ แต่แจ้งไม่เสียหายเหตุได้ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,500 บาท
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวหอมมะลิไทยปรับเพิ่มขึ้นสูงสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งถือเป็นปีทองของชาวนา โดยราคารับซื้อข้าวเปลือกแห้งเฉลี่ยตันละ 17,000-18,000 บาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35-40% เนื่องจากผลผลิตออกมาไม่มากนัก หรือคาดการณ์ที่ 8 ล้านตัน ประกอบกับพื้นที่ทำนาค่อยๆ ลดลงหลังจากเกษตรกรหันไปปลูกอ้อยเพื่อป้อนวัตถุดิบแก่โรงงานน้ำตาล และที่สำคัญโรงสีแย่งกันซื้อข้าวหอมมะลิต้นฤดูกาลเพื่อแนะนำลูกค้าในต่างประเทศ เป็นต้น
ขณะเดียวยอมรับว่าการประเมินปริมาณข้าวในปีนี้ยังลำบาก เพราะแม้ว่าจะลงพื้นที่ไปสำรวจทั่วประเทศแล้ว แต่ส่วนหนึ่งยังได้รับข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เช่น ในบางพื้นที่พบว่าไร่นาที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ แต่ชาวนากลับไม่แจ้ง เพราะหากแจ้งพื้นที่เสียหายจะได้รับเงินชดเชยเพียง 1,113 บาทต่อไร่ แต่หากแจ้งว่าข้าวไม่ได้รับความเสียหาย ชาวนาก็จะได้ค่าเก็บเกี่ยวไร่ละ 1,500 บาทซึ่งมากกว่าที่แจ้งเสียหาย
“ไม่แน่ใจว่าราคาจะปรับเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ โดยราคาข้าวเปลือก 17,000-18,000 บาทต่อตัน ตีเป็นราคาขายในต่างประเทศ 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ขณะที่ปีที่แล้วข้าวหอมมะลิต้นฤดูกาลราคาเฉลี่ย 12,000 – 14,000 บาทต่อตัน ”
นายเจริญ กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาการพัฒนาข้าวไทยค่อนข้างทรงตัวหรือไม่พัฒนาเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม โดยไทยจะเน้นส่งออกข้าวขาว ข้าวหอมมะลิ และข้าวนึ่ง แต่ในส่วนของเวียดนามค่อยข้างพัฒนาสายพันธ์ที่หลากหลายทั้งข้าวหอม ข้าวพื้นนิ่ม ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดโลกโดยเฉพาะจีน
สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวไทยตั้งแต่ 1ม.ค.-23 ต.ค.2561 ว่า อยู่ที่ 8.74 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 0.1% และคาดว่าทั้งปีนี้จะสามารถส่งออกได้รวม 11 ล้านตัน มูลค่า 5,600 ล้านดออลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.77 แสนล้านบาท แต่ในปี 62 คาดว่าจะส่งออกข้าวจะลดลงเหลือแค่ 10 ล้านตัน มูลค่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท เนื่องจากปริมาณข้าวมีไม่มาก และประเทศผู้นำเข้าข้าวหลักอย่างฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีการนำเข้าข้าวในปีนี้มากกว่าปกติ จึงทำให้คาดว่าปีหน้าการนำเข้าในส่วนนี้จะหายไป ประกอบกับตลาดนำเข้าข้าวรายอื่นๆ ทรงตัว นอกจากนี้ยังมีจีนเป็นตัวแปรสำคัญที่จะมาแย่งตลาดข้าวนึ่งในแอฟริกาของไทยไป เนื่องจากจีนมีข้าวขาวเก่าที่อยู่ในสต๊อกมากถึง 113 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำข้าวเก่าเหล่านี้มาทำเป็นข้าวนึ่งและส่งออกไปตลาดแอฟริกาในราคาที่ต่ำกว่าไทยมาก
รายละเอียดจาก