ครอบครัวเกษตรกรรุ่นใหม่ ใน จ.มหาสารคาม ใช้ควายไถนาแทนเครื่องจักร ยึดหลักพอเพียงตามรอยพ่อ เผย ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 500-600 บาท ทั้งยังได้ใช้ปุ๋ยคอกบำรุงดินโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ …
จากปัจจุบัน เกษตรกรส่วนใหญ่ หันมาทำนาด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตัวช่วยที่สำคัญ คือ ควายเหล็ก หรือรถไถ แทนการใช้ควายไถพื้นที่ปลูกพืชเหมือนในอดีต เพื่อร่นระยะเวลาการเตรียมดิน แต่สิ่งที่ตามมา คือ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรเหล่านี้ ประสบปัญหาขาดทุนและต้นทุนสูง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ว่าที่ร้อยตรี ธนาพัฒน์ เพิ่มพัฒน์ หนุ่มปริญญาตรีวิศวกรคอมพิวเตอร์ ที่ผันตัวเองมาทำการเกษตร กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ทำการเกษตร 20 ไร่แบ่ง ออกเป็นส่วนๆ เพื่อลดความเสี่ยงด้านการตลาด หากปลูกพืชเชิงเดี่ยว จึงแบ่งปลูกข่าตาแดง 3 ไร่ ข่าหยวก 1 ไร่ ข่าเหลือง 2 งาน ตะไคร้เกษตรขาว 1 ไร่ กล้วยหอมทอง 1 ไร่ ส่วน ที่เหลือ เป็นนาข้าว มะนาว และพืชผักหลากหลายชนิด แหล่งรับซื้อ ข่าตาแดง ข่าเหลือง จะขุดหน่ออ่อนขาย ตลาดที่นำไปขายจะมีตลาดสีเขียว และตามตลาดนัด นอกจากข่าแล้ว ยังมีพืชผักอีกหลายชนิดที่ส่งขายได้ โดยพืชผลแต่ละอย่าง จะเน้นความสดและปลูกแบบวิถีอินทรีย์ การเตรียมดินทุกครั้ง ไม่ว่าจะเตรียมดินพืชสวน และปลูกข้าวครอบครัวตนได้ใช้ควายไถแทนควายเหล็ก ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายได้ไม่ต่ำกว่าไร่ละ 500-600 บาท โดยควายที่ตนเลี้ยงไว้ ชื่อ มอส
ส่วนการไถ จะนำควายออกจากคอกมาใส่แอก ผูกโยงไปยังคันไถ มือซ้ายจะถือคันไถ มือขวาจะถือเชือกบังคับควาย โดยจะเริ่มไถนาตั้งแต่ 6 โมงเช้า ไปจนถึง 8 โมงเช้า ก็จะพักเพื่อให้ทั้งคนทั้งควายได้พักผ่อน อีกทั้งช่วงเช้าอากาศไม่ร้อน ไม่เหนื่อยง่าย ทั้งนี้ ตนจะใช้ควายไถแทนเครื่องจักรไปเรื่อยๆ จนกว่าจะทำไม่ไหว ถึงแม้ว่าจะมีเพื่อนบ้านที่มาเห็นแล้วหัวเราะเยาะว่า ครอบครัวตนเป็นคนหัวโบราณยังใช้ควายไถนาอยู่ ไม่ทันชาวบ้านชาวช่องเค้า ตนจะยังยึดมั่นในวิถีพอเพียงตามพ่อหลวง เพราะเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย อีกทั้งยังได้ปุ๋ยจากธรรมชาติ หากไปจ้างรถไถ พอเขาเสร็จงานก็จะตามมาเอาเงินเลย ไม่สามารถให้เครดิตกันได้ ทำให้มีต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้น.
ที่มา: ไทยรัฐ