ประเทศไทยเริ่มทำโครงการ “ประกันภัยข้าวนาปี” มาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงขณะนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 10 แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่า ในปีแรก ๆ ยังมีพื้นที่ทำประกันค่อนข้างน้อย แต่ภาครัฐและเอกชนธุรกิจประกันภัยที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ร่วมมือกันปรับปรุงพัฒนา จนกระทั่งในปีปัจจุบันขยายสู่พื้นที่ 44.36 ล้านไร่ ใกล้จะเต็มพื้นที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศที่มีกว่า 60 ล้านไร่แล้ว
โดย “นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา” ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้เล่าถึง “วิวัฒนาการโครงการประกันภัยข้าวนาปี” ตั้งแต่เริ่มจนถึงปัจจุบันว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปีเป็นโครงการช่วยแก้ปัญหา “ความเสี่ยงภัยระหว่างการเพาะปลูก” ให้แก่เกษตรกร โดยรัฐจัดสรรงบประมาณมาช่วยเหลือส่วนหนึ่ง และมีเอกชนธุรกิจประกันภัยเข้ามารับประกัน
ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศไปแล้วรวมกว่า 177.1 ล้านไร่ มีเบี้ยเข้าสู่ระบบประกันภัย 13,383.7 ล้านบาท และจ่ายเคลมให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว 10,812.7 ล้านบาท
“ตั้งแต่เริ่มรับประกันในปี 2554 โครงการนี้ก็ขาดทุนทันทีเพราะเจอวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ มีพื้นที่นาข้าวทำประกันภัยแค่ 1.05 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศกว่า 62.69 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึงระบบประกันภัยแค่ 1.69% โดยปีนั้นมีเบี้ยประกันภัยรวมแค่ 136.56 ล้านบาท จากที่คิดเบี้ยประกัน 120 บาทต่อไร่ แต่จ่ายเคลมสูงกว่า 760.5 ล้านบาท หรือกว่า 500% ของเบี้ยรับ” นายกี่เดชกล่าว
หลังจากนั้น โครงการก็ยังขาดทุน แล้วเริ่มพลิกมามีกำไรในปี 2557 โดยมีเบี้ยประกันรวม 264 ล้านบาท ซึ่งมีการปรับขึ้นอัตราเบี้ยประกันเป็น 120-475 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสี่ยง 5 โซน ขณะที่จ่ายเคลมไปแค่ 123.3 ล้านบาท อย่างไรก็ดี พื้นที่ทำประกันในปีดังกล่าว ลดลงไปเหลือ 8.30 แสนไร่ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศลดลงเหลือ 63.21 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึงระบบประกันที่ 1.31%
ขณะที่ในปี 2558 ยังมีกำไรได้ โดยมีเบี้ยประกันรวม 491 ล้านบาท แต่ปรับอัตราเบี้ยประกันใหม่เป็น 120-450 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสี่ยง 5 โซน และจ่ายเคลมไปเพียง 151.2 ล้านบาท โดยพื้นที่ทำประกันเพิ่มกลับมาที่ 1.51 ล้านไร่ แม้พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศจะลดลงเหลือ 49.48 ล้านไร่
“นายกี่เดช” บอกว่า จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเกิดขึ้นในช่วงปี 2559 หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ริเริ่ม “โครงการอบรมความรู้ประกันภัย” เพื่อรับฟังความเห็นจากเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งส่งผลทำให้ปีดังกล่าว มีพื้นที่ทำประกันภัยข้าวเพิ่มเป็น 27.17 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 56.50 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึงอยู่ที่ 48.10%
“ปี 2559 มีเบี้ยประกันรวมกว่า 2,286.60 ล้านบาท ซึ่งได้ปรับอัตราเบี้ยประกันเหลือ 100 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ ส่วนการจ่ายเคลมมีแค่ 812.5 ล้านบาท ทำให้ปีนั้นมีกำไรสูงกว่าพันล้านบาท” นายกี่เดชกล่าว
อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2560 โครงการต้องพลิกกลับไป “ขาดทุน” อีกครั้ง เนื่องจากต้องเผชิญกับ “ภัยแล้ง” รุนแรง พื้นที่ทำประกันลดลงเหลือ 26.11 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 56.65 ล้านไร่ ส่งผลให้อัตราการเข้าถึงลดเหลือ 46.10% โดยมีเบี้ยประกันรวม 2,015.68 ล้านบาท ซึ่งปรับลดอัตราเบี้ยเหลือ 90 บาทต่อไร่ ส่วนการจ่ายเคลมมีเข้ามากว่า 2,087.8 ล้านบาท
จากนั้นในปี 2561 ก็กลับมามี “กำไร” ได้อีก จากพื้นที่ทำประกันภัยที่เพิ่มขึ้นเป็น 27.60 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 53.86 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 51.24% มีเบี้ยประกันรวม 2,177.10 ล้านบาท และจ่ายเคลมไป 1,777.4 ล้านบาท
ขณะที่สารพัดภัยธรรมชาติในปี 2562 ทั้งภัยแล้งที่หนักสุดในรอบ 50 ปี แล้วยังตามด้วยน้ำท่วมขนานใหญ่อีก โดยในปีดังกล่าวมีพื้นที่ทำประกัน 30.85 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 61.11 ล้านไร่ อัตราการเข้าถึงเหลือ 46.51% มีเบี้ยประกันรวม 2,167.07 ล้านบาท อัตราเบี้ยประกันลดลงเหลือ 85 บาทต่อไร่ ขณะที่การจ่ายเคลมเพิ่มขึ้นถึง 4,825.6 ล้านบาท ขาดทุนกว่า 223% (ณ 20 ต.ค. 2563) ซึ่งคาดว่าส่วนที่เหลือไม่ถึง 1% ไม่น่าจะจ่ายเคลมเกิน 4,900 ล้านบาท
ส่วนปีนี้ ปี 2563 มีพื้นที่ทำประกัน “สูงที่สุด” นับตั้งแต่เริ่มโครงการ โดยมีจำนวน 44.36 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ 61.11 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึงระบบประกันกว่า 72.58% สูงกว่าสัดส่วนประกันรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ที่อยู่ที่ 60% ไปแล้ว ซึ่งในปีนี้ได้ปรับอัตราเบี้ยประกันเป็น 97-230 บาทต่อไร่ ตามพื้นที่เสี่ยง 3 โซน โดยมีเบี้ยประกันรวม 3,758.6 ล้านบาท และจ่ายเคลมเบื้องต้นไปแล้ว 17.8 ล้านบาท (ณ 20 ต.ค. 2563) ทั้งนี้ เหลือเพียง 14 จังหวัดภาคใต้ที่จะสิ้นสุดระยะเวลารับประกันข้าวในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 นี้
อย่างไรก็ดี โครงการนี้บริษัทประกันจะไม่เก็บความเสี่ยงไว้เองทั้งหมด แต่จะส่งประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) สัดส่วนกว่า 80% ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทประกันเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 17 ราย
“ตามสถิติโครงการประกันภัยพืชผล จะเป็นวัฏจักร ทุก 3 ปีจะเจอภัยหนัก ขาดทุนเป็นรอบ ๆ แต่ปัจจุบัน ดิน ฟ้า อากาศ ของไทยเปลี่ยนแปลงบ่อย จนคาดการณ์ได้ลำบาก ทำให้ความผันผวนในอนาคตจะมีมากขึ้น หรืออาจเกิดภัยแทบทุกปี แต่คาดหวังว่าปีนี้จะดี เพราะยังมีรายงานความเสียหายน้อย เกษตรกรเก็บเกี่ยวได้มาก อย่างไรก็ดี เนื่องจากปีนี้ทางรีอินชัวเรอร์ขาดทุนหนัก จากผลการระบาดโควิด-19 อาจทำให้มีส่วนต้องปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 2564-2565 แต่ถ้าสิ้นปีนี้เคลมอยู่ราว ๆ สัก 80% จะขอให้รีอินชัวเรอร์คงเบี้ยไว้สัก 1 ปี เพื่อให้รัฐบาลไทยสบายใจ ไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่ม”
ฟาก “นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์” รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า แนวโน้มการเคลมประกันภัยข้าวนาปี ปี 2563 นี้ อาจจะใกล้เคียงกับปีที่แล้ว แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงต้นปีเกษตรกรประสบปัญหาภัยแล้งและช่วงนี้ก็เจอปัญหาน้ำท่วมอีก
“ธ.ก.ส.อยู่ระหว่างรอเกษตรกรแจ้งความเสียหาย ซึ่งน่าจะเห็นความชัดเจนได้ช่วงกลางเดือน พ.ย.นี้ อย่างไรก็ดี เงื่อนไขการเคลมยังขึ้นอยู่กับการประกาศพื้นที่ของส่วนราชการอยู่ด้วย ซึ่งหากมีการประกาศว่าพื้นที่ใดบ้างเป็นพื้นที่ภัยพิบัติออกมาแล้ว ก็จะเห็นความชัดเจนเรื่องการเคลมมากขึ้น” นายธนารัตน์กล่าว
แม้จะล้มลุกคลุกคลานไปบ้างในบางช่วง เนื่องจากภัยธรรมชาติคาดเดาได้ลำบากมากขึ้น แต่การดูแลเกษตรกรที่เป็นฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญของเศรษฐกิจไทยก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งล่าสุดทาง คปภ.ก็ตั้งเป้าว่าจะศึกษาจัดตั้ง “กองทุนรับมือภัยพิบัติ” โดยจะวางระบบกฎหมายให้โครงสร้างมีความถาวร เพื่อให้การประกันภัยพืชผลเป็นเรื่องที่ยั่งยืนต่อไป
ข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ