ห่อหมกฮวกไปฝากป้ากระแสเพลงดัง ดันธุรกิจ เลี้ยงฮวกหรือลูกอ๊อดกบขาย ที่นครพนมไปไกลสู่ระบบเกษตรแปลงใหญ่แห่งแรก
ดร.อดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า ระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นนโยบายสำคัญที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สนับสนุนให้เกษตรกรรายย่อยที่ผลิตสินค้าทางการเกษตรประเภทเดียวกันได้รวมกลุ่มกันเพื่อบริหารจัดการร่วมกัน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และยกระดับสินค้าให้มีมาตรฐาน รวมทั้งสามารถแข่งขันได้ในตลาด ภายใต้การสนับสนุนอย่างบูรณาการของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลากว่า 3 ปีแล้ว โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมประมงมีเป้าหมายในการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่รวมทั้งสิ้น 77 แปลง มีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 4,667 ราย คิดเป็นพื้นที่กว่า 48,000ไร่ โดยในด้านการประมงนั้นมีสัตว์น้ำที่เข้าร่วมโครงการฯ หลากหลายชนิด อาทิเช่น ปลานิล ปลาตะเพียนขาว ปลายี่สก ปลาดุก ปลาแรด กุ้งก้ามกราม กุ้งขาวแวนาไม ปูทะเล รวมถึงลูกอ๊อดกบ เป็นต้น ซึ่งสัตว์น้ำบางชนิดถือเป็นสัตว์น้ำชนิดใหม่ที่เพิ่งเริ่มนำร่องเข้าโครงการฯ อีกด้วย
“ลูกอ๊อดกบ” เป็นหนึ่งในชนิดสัตว์น้ำนำร่องที่กรมประมงได้ผลักดันให้เข้าสู่โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านการประมงแห่งแรกของประเทศไทย เนื่องจากเป็นสัตว์น้ำที่ตลาดในท้องถิ่นมีความต้องการสูง ราคาดี อีกทั้งยังเป็นการพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในช่วงหน้าแล้งที่เกษตรกรว่างเว้นจากการปลูกข้าวนาปีมาปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบ ซึ่งช่วยสร้างวิถีเศรษฐกิจชุมชนให้มีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี
นายสมชัย วงษ์สุข เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบบ้านหนองแต้ หมู่ที่ 7 ตำบลนาขาม อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เล่าว่า ตนเป็นผู้จัดการแปลงภาคเกษตรกรของโครงการแปลงใหญ่ลูกอ๊อดกบจังหวัดนครพนม ซึ่งที่นี่ชาวบ้านมีการเพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบมาเป็นระยะเวลานานกว่า 15 ปี จนเป็นที่รู้จักกันทั่วไป กลายเป็นคำพูดติดหูว่า “กบร้องก้องเรณู” โดยชาวบ้านจะเลี้ยงลูกอ๊อดกบกันในช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงว่างเว้นจากการทำนาปี เนื่องจากขาดแคลนน้ำไม่สามารถทำการเกษตรเพาะปลูกอย่างอื่นได้ โดยในระยะแรกเลี้ยงกันเป็นอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ปะทังครอบครัว จนกระทั่งตลาดเริ่มขยายตัวมีความต้องการสูงขึ้น ชาวบ้านจึงสนใจหันมาเลี้ยงกันมากขึ้น แต่ก็ยังประสบปัญหาในการผลิตเนื่องจากค่าอาหารซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการเลี้ยงสูง รวมถึงเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดเทคนิค ความรู้ และวิธีการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จนเมื่อกรมประมงโดยสำนักงานประมงจังหวัดนครพนม และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดนครพนม ได้เข้ามาแนะนำให้มีการรวมกลุ่มกันตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ด้านการประมง ซึ่งมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกโครงการฯ จำนวน 32 ราย มีพื้นที่การเพาะเลี้ยงประมาณ 54 ไร่ จึงได้ทำการจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เพาะเลี้ยงลูกอ๊อดกบกลุ่มแรกของประเทศไทย ซึ่งผลจากการรวมกลุ่มทำให้เกษตรกรมีเงินทุนหมุนเวียน และช่วยในการต่อรองราคาปัจจัยการผลิตต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนในการเลี้ยง อีกทั้งภาครัฐยังเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการ พร้อมสนับสนุนความรู้เกี่ยวกับเทคนิคการเพาะเลี้ยงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี
นายสมชัย เล่าต่อไปว่า สำหรับการเพาะพันธุ์ลูกอ๊อดกบนั้น เริ่มจากการนำพ่อแม่พันธุ์กบจำนวน 150 คู่มาปล่อยไว้ในบ่อดินขนาด 4×20 เมตร เป็นเวลา 1 คืน เพื่อให้ผสมพันธุ์วางไข่ตามธรรมชาติ ตอนเช้าจึงนำพ่อแม่พันธุ์ออกจากบ่อ จากนั้นประมาณ 1 วัน ไข่จะฟักออกเป็นตัวลูกอ๊อด ใช้ระยะเวลาอนุบาลอีก 18-20 วัน ก็สามารถจับขายได้ โดยแม่พันธุ์กบ 1 ตัว จะให้ผลผลิตลูกอ๊อดถึง 3,000 ตัวเลยทีเดียว ซึ่งในแต่ละปีจะมีบรรดาพ่อค้าแม่ค้าเดินทางมารับซื้อผลผลิตลูกอ๊อดถึงในพื้นที่ เพื่อนำไปส่งขายออกสู่ตลาดทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดกาฬสินธุ์ บึงกาฬ อำนาจเจริญ และยโสธร เป็นต้น สำหรับราคาขายในช่วงต้นฤดูสูงถึงกิโลกรัมละ 180 – 200 บาท กลางฤดูราคาจะลดลงอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 -150 บาท (450-500 ตัวต่อ 1 กิโลกรัม) ซึ่งสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ได้ปีละกว่าหลายสิบล้านบาท ซึ่งถือเป็นการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์พื้นที่นาให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อมูลจาก: เกษตรก้าวไกล