แบงก์ดิ้นปรับกลยุทธ์สาขารับเทรนด์ดิจิทัล “ปิด-ปรับ” โมเดลใหม่ ธปท.เปิดข้อมูลปี”60 แบงก์ปิดสาขาสูงสุด 230 แห่ง “กรุงไทย-กสิกรไทย” นำโด่งปิดเกือบ 100 สาขา “BBL-BAY” สวนกระแสเปิดเพิ่ม ซีอีโอกรุงศรีฯลั่นเดินหน้าขยายสาขาปรับรูปแบบใหม่ กรุงไทยทบทวนแผนปิดสาขาหวั่นกระทบฐานลูกค้า ธนชาตลุ้น ธปท.แจ้งเกิด e-KYC เขย่าสาขาแบงก์อีกระลอก
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สรุปข้อมูลจำนวนสาขาของธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบในปี 2560 พบว่า สาขาธนาคารทั้งระบบมีจำนวน 6,786 สาขา ลดลง 230 สาขา จากปี 2559 ที่มีจำนวน 7,016 สาขา ถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 จากปี 2558 ที่มีจำนวน 7,061 สาขา ทั้งนี้ หากดูด้านรายละเอียดพบว่า ธนาคารที่มีการปรับลดสาขามากที่สุดในปี 2560 คือ ธนาคารกรุงไทย มีการปรับลด 92 สาขา ทำให้ยอดสาขารวมสิ้นปีอยู่ที่ 1,121 สาขา รองลงมาคือ ธนาคารกสิกรไทย จำนวนสาขาลดลง 82 สาขา ทำให้เหลือ 1,028 สาขา และอันดับ 3 คือ ธนาคารธนชาต มีการปรับลด 69 สาขา ทำให้สาขารวมเหลือ 524 สาขา
BBL-BAY สวนกระแสเปิดเพิ่ม
ทั้งนี้ ภายใต้การปิดสาขาของแบงก์ในปี 2560 จำนวนมากถึง 230 สาขา แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีธนาคารพาณิชย์ที่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างธนาคารกรุงเทพ โดยปีที่ผ่านมามีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 11 สาขา ทำให้มีสาขาทั้งสิ้น 1,168 สาขา จากปีก่อนหน้าที่ 1,157 สาขา รวมทั้งธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 5 สาขา มาอยู่ที่ 663 สาขา จากปีก่อนหน้ามีจำนวน 658 สาขา นอกจากนี้ยังมีธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ที่มีการขยายสาขาเพิ่มขึ้น 44 สาขา ทำให้ยอดสาขารวมมาอยู่ที่ 132 สาขา
นายโนริอากิ โกโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า แม้ว่าอนาคตธุรกรรมที่เกิดขึ้นในสาขาธนาคารจะลดลง เปลี่ยนไปทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือมากขึ้น แต่ธนาคารก็ยังไม่มีแผนปรับลดสาขา และปีนี้ยังมีแผนขยายเพิ่มขึ้น เพราะธนาคารยังมีแผนขยายธุรกิจ และสาขายังเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงผู้ใช้บริการ แต่รูปแบบสาขาธนาคารจะเริ่มเปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองลูกค้าเฉพาะทางมากขึ้น เช่น เปลี่ยนไปรองรับกลุ่มลูกค้าผู้มีสินทรัพย์สูง (high net worth) กลุ่มลูกค้าทั่วไป ฯลฯ นอกจากนี้ทางธนาคารจะปรับใช้เครื่องอัตโนมัติในสาขามากขึ้น โดย 10% ของสาขาจะเปลี่ยนเป็นสาขาดิจิทัล เพื่อลดพนักงานในสาขา ส่วนอีก 50% ของสาขาทั้งหมดจะปรับเป็นกึ่งอัตโนมัติ คือ มีบุคลากรจำนวนเท่าเดิม และส่วนที่เหลืออีก 40% จะเป็นสาขารูปแบบเดิม
“นอกจากนี้ ทางธนาคารไม่มีนโยบายลดคน แม้ว่าจะมีดิจิทัลเข้ามา โดยดิจิทัลจะเข้ามามีส่วนช่วยให้กระบวนการทำงานง่ายขึ้น มีประสิทธิภาพ ในขณะที่บุคลากรจะย้ายไปทำงานอื่นที่ยกระดับขึ้นอีก เรื่องดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทำธุรกรรมหลายอย่างทั้งรูปแบบสาขา ธุรกรรมบนมือถือ ซึ่งก็จะมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนจำนวนสาขาปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นหลักสิบสาขา” นายโนริอากิกล่าว
e-KYC เขย่าสาขาแบงก์รอบใหม่
นายสนอง คุ้มนุช รองกรรมการผู้จัดการ สายเครือข่ายลูกค้ารายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก ธนาคารธนชาต กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการรอแนวปฏิบัติเรื่องกระบวนการระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic know your customer หรือ e-KYC) จากแบงก์ชาติ ที่จะออกมาเป็นทางการในปีนี้ เพื่อใช้กำหนดกลยุทธ์ด้านสาขาของธนาคารในอนาคตว่าควรปิด หรือปรับสาขาเป็นรูปแบบใด เพื่อให้สอดรับกับการบังคับใช้ e-KYC ที่จะเกิดขึ้น
“เชื่อว่าการเกิดขึ้นของ e-KYC จะเป็นจุดเปลี่ยนของสาขาแบงก์ค่อนข้างรุนแรง เพราะหากระบบพิสูจน์ตัวตนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์สามารถใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ผ่านระบบออนไลน์ มือถือจะเกิดขึ้นอีกมาก ความจำเป็นในการเดินเข้าไปใช้บริการในสาขาอาจไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะจำทำให้ประชาชนสามารถชำระค่าสินค้าบริการผ่านมือถือได้ทุกธุรกรรม รวมถึงสามารถขอสินเชื่อ หรือแม้แต่ลงทุนต่าง ๆ ภายใต้ต้นทุนที่ถูกลง ดังนั้นอาจจะเห็นแบงก์ต่าง ๆ ตัดสินใจปิดสาขา หรือเปลี่ยนรูปแบบสาขาให้เห็นชัดเจนขึ้นว่า การมีสาขาไว้เพื่อทำอะไร สาขาจะตอบโจทย์ธุรกรรมใหม่ ๆ ได้หรือไม่”
นายสนองยังกล่าวอีกว่า แผนด้านสาขาของธนาคารขณะนี้ถือว่าอยู่ตัวแล้ว เนื่องจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการลดสาขาอย่างต่อเนื่อง จากที่มีสาขาเกือบ 700 แห่ง ปัจจุบันเหลือ 524 สาขา และอาจเห็นการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหลัง e-KYC เกิดขึ้น และเปลี่ยนรูปแบบเป็นสาขาที่เน้นทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันธนาคารมีสาขารูปแบบใหม่เป็นระบบอัตโนมัติทั้งหมด 2 สาขา คือ Thanachart Express ที่ศูนย์การค้าเอ็มบีเค เซ็นเตอร์ และ Thanachart Next ที่สยามพารากอน
KTB พับแผนปิดสาขา
ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย หรือ (KTB) ซึ่งปี 2560 ได้มีการปิดสาขาธนาคารไปถึง 92 สาขา กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารจะมีการทบทวนและชะลอแผนการปิดสาขาออกไปก่อน โดยขอพิจารณาและทบทวนให้รอบด้านถึงผลกระทบจากการปิดสาขาว่าจะกระทบผู้ใช้บริการทางการเงินหรือไม่ เพราะพบว่าที่ผ่านมาเมื่อมีสถาบันการเงินอื่น ๆ ปิดสาขา ทำให้มีประชาชนบางส่วนหันมาใช้บริการทางการเงินกับธนาคารแทน
ดังนั้น การปิดสาขาในบางจุดก็อาจเป็นตัวกระตุ้น หรือผลักประชาชนให้เลิกใช้บริการของแบงก์เร็วขึ้น ดังนั้น ธนาคารจึงต้องทบทวนแผนการปิดสาขาอย่างรอบคอบ ซึ่งการปิดสาขาในปี 2561 คงไม่มากเท่าปีที่ผ่านมาแล้ว และอาจเห็นสาขารูปแบบใหม่เกิดขึ้น เช่น สาขาที่ใช้แมชีนหรือระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการให้บริการทางการเงิน แทนสาขารูปแบบเดิม ๆ
“สำหรับเรื่องพนักงาน เราประกาศชัดว่าไม่ได้มีนโยบายปรับคนออก แต่จะไม่เพิ่มอัตราคน จากปัจจุบันที่มีอยู่ 24,000 คน และตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะต้องลดต้นทุนธนาคารให้ได้ 30% โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ดังนั้น แผน 5 ปีของธนาคารจะมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพิ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากที่สุดตั้งแต่ที่ลงทุนมา” นายผยงกล่าว
SCB ปรับสาขาเป็นศูนย์ลงทุน
สำหรับธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ถือว่าเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งแรกที่มีการประกาศนโยบายชัดเจนเรื่องการปรับลดสาขาและจำนวนพนักงาน จนสะเทือนวงการเมื่อช่วงปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ประกาศนโยบายธนาคารชัดเจนว่า เพื่อรับกับยุคดิจิทัลธนาคารต้องมีการปรับตัวเพื่อหันไปให้บริการรูปแบบใหม่มากขึ้น โดยกลยุทธ์ด้านสาขา 3 ปีนับจากนี้ นอกจากการปรับเปลี่ยนบทบาทสาขาใหม่ให้เป็นศูนย์บริการด้านธุรกิจ และศูนย์บริการด้านการลงทุนมากขึ้น ขณะเดียวกันสาขารูปแบบเดิมที่อยู่ บางสาขาก็ต้องปิดไป โดยจำนวนสาขาทั้งหมดจะลดลงเหลือประมาณ 400 สาขา จากปัจจุบันมีจำนวน 1,153 สาขา ขณะที่พนักงานก็คาดว่าจะลดเหลือ 15,000 คน จาก 27,000 คนในปัจจุบัน