จ.มหาสารคาม สำรวจพื้นที่อุทกภัยทางอากาศเพื่อประเมินสถานการณ์ รวบรวมข้อมูลวางแนวทางป้องกันและแก้ไขเพิ่มเติม ขอประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากทางราชการใกล้ชิด
(20ต.ค.60)นายวิทยา มากปาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม นำหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 2 สำรวจพื้นที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดมหาสารคาม ตามแนวแม่น้ำชี ตั้งแต่อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมือง รวมถึงอ่างเก็บน้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์และความเสียหาย และนำข้อมูลจากภาพถ่ายทางอากาศมาใช้ในการวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหา หลังจากเขื่อนอุบลรัตน์เพิ่มการระบายน้ำตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคม ปัจจุบันปริมาณน้ำที่ระบายออก 50.54 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)ต่อวัน เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีฝนตกและน้ำไหลเข้าเขื่อนฯปริมาณมาก
รองผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวภายหลังการสำรวจพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทางอากาศว่า ก่อนหน้านี้ในจังหวัดมหาสารคามมีปริมาณน้ำมากอยู่แล้วจากผลกระทบพายุเซินกา เมื่อมีการระบายน้ำเพิ่มจากเขื่อนอุบลรัตน์และฝนในพื้นที่ เฉลี่ยระดับน้ำในแม่น้ำชีสูงขึ้นวันละ 4 – 5 เซนติเมตร ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยมากขึ้น จากระดับน้ำล้นตลิ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่การเกษตรและหมู่บ้านบางส่วนรวมถึงเส้นทางสัญจรโดยเฉพาะทางเชื่อมต่อระหว่างหมู่บ้าน
สำหรับทิศทางการดูแลและแก้ปัญหาเพิ่มเติมต่อจากนี้ไป จะเน้นเรื่องการป้องกันที่อยู่อาศัยและเส้นทางคมนาคม เช่น ทำแนวกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ต่ำ ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเยียวยานอกจากหน่วยงานภาครัฐ กาชาดจังหวัด และเอกชนจะร่วมกันมอบสิ่งของและอาหารบรรเทาทุกข์แล้ว สำหรับการชดเชยความเสียหายของพื้นที่การเกษตร จะมีคณะกรรมการระดับอำเภอและจังหวัดพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป แต่ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารจากอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานต่างๆอย่างใกล้ชิดเพราะสถานการณ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากไม่มีฝนตกมาเพิ่ม เมื่อเขื่อนอุบลรัตน์ลดการระบายน้ำ ทางจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดอื่นๆก็จะร่วมมือกันเร่งระบายน้ำเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายโดยเร็ว
ล่าสุด ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัยและดินถล่ม ปี 2560 จังหวัดมหาสารคาม รายงานสถานการณ์อุทกภัย ข้อมูลประจำวันที่ 20 ตุลาคม 2560 มีน้ำท่วมขังบริเวณบ้านเรือน และน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตร (นาข้าว) จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย สถานการณ์น้ำในแม่น้ำชีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ท่วมพื้นที่การเกษตร 46,783 ไร่ น้ำท่วมบ้านพักอาศัย จำนวน 6 ตำบล 15 หมู่บ้าน 188 ครัวเรือน วัด 3 แห่ง โรงเรียน 3 แห่ง ถนนถูกน้ำท่วม 10 เส้นทาง, อำเภอกันทรวิชัย น้ำในแม่น้ำชีล้นตลิ่งท่วมหมู่บ้าน ได้รับผลกระทบ 10 ตำบล จำนวน 82 หมู่บ้าน 6,949 ครัวเรือน หมู่บ้านที่ถูกตัดขาดการสัญจรต้องใช้เรือเป็นยานพาหนะ 2 หมู่บ้าน ถนนระหว่างหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสัญจรไม่ได้ 5 เส้นทาง, อำเภอเมืองมหาสารคาม น้ำท่วมที่พักอาศัยใน 6 ตำบล 44 หมู่บ้าน 331 ครัวเรือน วัด 12 แห่ง โรงเรียน 2 แห่ง ถนนทางเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสัญจรไม่ได้ 5 หมู่บ้าน ใน 4 ตำบล หมู่บ้านที่ถูกตัดขาดการสัญจรโดยสิ้นเชิง ลักษณะเป็นเกาะ 1 หมู่บ้าน คือบ้านดอนโด ต.แก่งเลิงจาน 92 ครัวเรือน ถนนชำรุด 13 สาย พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเเสียหาย จำนวน 19,631 ไร่
ภาพและข้อมูลข่าว: ส.ปชส.มหาสารคาม/ข่าว