วันที่ 18 พฤษภาคม 2564 แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้นำเสนอ ครม. กำหนดแผนออก พ.ร.ก.กู้เงิน 7 แสนล้านบาท เนื่องจากพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท มีกรอบวงเงินกู้คงเหลือ 166,525 ล้านบาท และการระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายน 2564 จึงมีความจำเป็นต้องนำเงินส่วนที่เหลือไปใช้ดูแลประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกประมาณ 150,000 ล้านบาท จึงทำให้มีวงเงินคงเหลือจำนวน 16,525 ล้านบาท
พร้อมกันนี้ สถานการณ์โควิด-19 ยังส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหา จำจัเการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจากัด และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ ของ COVID-19 แต่เนื่องจากแหล่งเงินงบประมาณที่สามารถำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ COVID-19 มีข้อจำกัด จึงเสนอครม.ออกพ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังก็ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2/64 เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย
สำหรับการกู้เงินเพิ่มเติม 7 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 3 ด้าน ได้แก่ 1 ให้กระทรวงสาธารณสุข วงเงิน 30,000 ล้านบาท นำไปใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน ปรับปรุงสถานพยาบาลและการวิจัยพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดระลอกใหม่ 2.ให้คลัง วงเงิน 400,000 ล้านบาท นำไปใช้ช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ และ 3.ให้คลังนำไปใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมวงเงิน 270,000 ล้านบาท เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุน และการบริโภคในประเทศ
ทั้งนี้ กรอบเวลาการกู้เพื่อใช้จ่ายได้ถึงเดือนก.ย.65 และคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจปี 64 ขยายตัวเพิ่มอีก 1.5% อย่างไรก็ตามขั้นตอนหลังจากที่นำเสนอ ครม.แล้ว จะต้องมีการพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนวงเงินกู้จาก 7 แสนล้านบาทได้อีก อย่างไรก็ตามจะไม่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ ในปีงบประมาณ 64 ซึ่งจะอยู่ที่ 58%เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง แต่ปีหน้าคาดว่าหนี้จะเกินกรอบเป้าหมายที่ 60% แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะในสถานการณ์ไม่ปกติ รัฐบาลสามารถขยายกรอบหนี้สาธารณะให้เพิ่มอีกได้
ข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติธุรกิจ