ประเทศไทยใช้ปุ๋ยทุกวันนี้ปีหนึ่ง 4-5 หมื่นล้าน ถ้าเราลดปุ๋ยในนาข้าวได้เมื่อไหร่ ก็คือการลดใช้ปุ๋ยในประเทศได้มาก นอกจากนี้พบว่า ในฟางข้าว ประมาณ 60 ล้านไร่ ที่ทำนาอยู่ ปุ๋ยที่อยู่กับฟางข้าวมีมูลค่า 3-4 หมื่นล้าน แต่เราเผาทำลายไปเกือบครึ่งหนึ่ง
คิดง่ายคร่าวๆ ว่า ในฟางข้าว 1 ไร่ เป็นมูลค่าปุ๋ย NPK เป็นพันบาท ถ้าเราไม่เผาก็ต้องหาทางเลือกให้ชาวบ้าน จริงๆ สาเหตุที่ชาวบ้านเผา หนึ่ง ไม่รู้จะจัดการฟางยังไงให้มันไว เพราะทุกวันนี้ปลูกข้าว 2 ปี 5 รอบ และจากการพัฒนาพันธุ์ที่ดีเกินไป ปลูกยังไงก็ออกดอก นี่เป็นข้อดี แต่ข้อเสียคือสภาพแวดล้อมในประเทศเสียหายมาก ศัตรูพืชก็ระบาด สอง
ถ้าใช้วิธีปกติ คือ ไถกลบ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 40-60 วัน ถ้าใช้วิธีไถกลบแล้วปลูกเลย ตอซังจะถูกย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติ ซึ่งไม่สามารถจะย่อยสลายได้ในระยะเวลาอันสั้น ปลูกข้าวไปก็จะเหลือง ไม่โต แคระแกร็น อาการนี้เรียกว่า อาการข้าวเมา เมาตอซัง
ดร.กฤษณพงศ์ ศรีพงษ์พันธุ์กุล รองอธิบดีกรมการข้าว ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนำฟางข้าวมาใช้ให้เกิดประโยชน์ว่า ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าว ทั้งฤดูนาปีและนาปรังคร่าวๆ กว่า 66 ล้านไร่
ในการทำนา 1 ไร่ จะให้ฟางข้าวประมาณ 800 กิโลกรัม ซึ่งประกอบด้วย ปริมาณธาตุไนโตรเจน ประมาณ 5 กิโลกรัม ฟอสฟอรัส ประมาณ 1 กิโลกรัม และโพแทสเซียม ประมาณ 11 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีจุลธาตุที่เป็นประโยชน์จากการเจริญเติบโตของต้นข้าวอีกไม่น้อย และจากการประมาณการในแต่ละปีประเทศไทยมีฟางข้าวและตอซังข้าว ไม่น้อยกว่า 50 ล้านตัน
ถ้าหากชาวนาในบ้านเราไม่เผาหรือทำลายฟางข้าว แต่ให้ไถกลบฟางและตอซัง หรือไถพรวนตีหมักลงดิน ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวแล้ว จะทำให้ลดการใช้ปุ๋ยลงได้ส่วนหนึ่ง ถ้าหากดูจากตัวเลข ฟางและตอซังข้าวจำนวน 50 ล้านตัน จะเป็นธาตุไนโตรเจนประมาณ 330,000 ตัน ธาตุฟอสฟอรัสประมาณ 47,000 ตัน ธาตุโพแทส เซียมประมาณ 720,000 ตัน กำมะถัน ประมาณ 2,400 ตัน และธาตุอาหารอื่น ๆ ถ้าคิดเป็นตัวเลขประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณ 105 บาทต่อไร่ ซึ่งจะช่วยให้ชาวนาลดค่าปุ๋ยลงได้ทันที
แต่สิ่งสำคัญถ้าหากชาวนาไม่เผาฟาง ตอซัง จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อม ไม่ไปเร่งให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น และจะช่วยลดอุบัติเหตุจากควันไฟ นอกจากนี้ฟางข้าวที่ไถกลบหรือไถพรวน จะเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ดีที่สุดด้วย โดยมีวิธีการหนึ่งที่จะทำให้ช่วยย่อยสลายฟางให้เร็วขึ้น
โดยให้ปฏิบัติดังนี้ ช่วงก่อนที่จะเกี่ยวข้าว 7-10 วัน ให้ทำน้ำหมัก พด. 2 ทำง่าย ๆ โดยการใช้กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม ผสมกับรำหยาบ 15 กิโลกรัม ใส่ถังหมักพลาสติกความจุ 100 ลิตร แล้วเติมน้ำสะอาดลงในถังหมักพลาสติก ให้ได้ปริมาณ 100 ลิตร จากนั้นใส่เชื้อจุลินทรีย์ พด. 2 (ขอได้จากสถานีพัฒนาที่ดินทุกแห่ง) ซึ่งบรรจุอยู่ในซอง 1-2 ซอง ลงในถังหมัก ใช้ไม้คนให้เข้ากันดีแล้วปิดฝาถังหมัก หมักทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 7-10 วัน เพื่อเพิ่มปริมาณเชื้อจุลินทรีย์น้ำหมัก จะใช้การได้โดยสังเกตจากการเปิดฝาถังหมักจะพบว่ามีเส้นใยเชื้อราจำนวนมาก ซึ่งก็พอดีเกี่ยวข้าวเสร็จ หากชาวนารีบเตรียมแปลงก็ให้เอาน้ำหมักที่ใช้การได้แล้วนี้ เทใส่ในนาพร้อมกับการเอาน้ำเข้านาที่เกี่ยวแล้ว ในอัตราการใช้น้ำหมัก 10 ลิตร ต่อไร่ น้ำที่ไหลเข้านาจะกระจายน้ำหมักที่มีเชื้อจุลินทรีย์ที่มีความสามารถในการย่อยสลายฟางข้าวได้ดีไปทั่วแปลงนา ให้แช่น้ำหมักฟางและตอซังข้าวในระดับท่วมตอซังข้าว โดยแช่หมักนานประมาณ 10-14 วัน ฟางและตอซังข้าวจะเปื่อย สามารถไถพรวนดินตีหมักฟางข้าวได้อย่างสบาย ๆ
ด้วย วิธีการอย่างนี้ชาวนาจะสามารถทำนาได้มากรอบขึ้น และจะสามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตข้าวได้ส่วนหนึ่ง และยังส่งผลดีต่อการป้องกันกำจัดข้าววัชพืช ข้าวเรื้อ ข้าวค้างฤดู หรือเมล็ดวัชพืชได้อีกทางหนึ่งด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก : Technologychaoban – เทคโนโลยีชาวบ้าน