คลัง ประเมินผ่อนคลายล็อกดาวน์ 29 จังหวัด ช่วยผู้ประกอบการ 1.6 ล้านราย หนุนจ้างงานเอสเอ็มอี 8.2 ล้านคน คาดจีดีพีโต 1.3% ชี้โควิดคลี่คลายไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดทั้งปีมีวัคซีน 140 ล้านโดส ผลักดันเศรษฐกิจเดินหน้า
วันที่ 5 กันยายน 2564 รายงานข่าวจากสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีว่า การดำเนินมาตรการการผ่อนคลายล็อกดาวน์ 29 จังหวัดในปัจจุบัน เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลาย จะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs กว่า 1.6 ล้านรายในพื้นที่ดังกล่าวได้กลับมาดำเนินกิจการได้คล่องตัวขึ้น ส่งผลดีต่อภาคการจ้างงาน SMEs กว่า 8.2 ล้านคน โดยร้านอาหาร ศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า ร้านเสริมสวย สถานเสริมความงาม ร้านนวด และสถาบันกวดวิชา ได้รับผลดีจากมาตรการการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในครั้งนี้
“การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจภาคบริการ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.8 ของ GDP) เชื่อมโยงไปยังภาคการผลิตที่หยุดชะงักไปให้กลับมาดำเนินกิจกรรมได้ ซึ่งถือเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจภาพรวมช่วงที่เหลือของปี 64”
คาดเศรษฐกิจไทยปีนี้ โต 1.3% จากปีที่แล้วหดตัว -6.3%
ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2564 จะกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 1.3 ต่อปี (คาดการณ์ ณ กรกฎาคม 2564) จากการหดตัวร้อยละ 6.1 ในปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก (2) แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่าย การลงทุน และมาตรการเศรษฐกิจสำคัญของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการกระตุ้นการบริโภค ได้แก่ โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ และ (3) การปรับตัวดีขึ้น อย่างต่อเนื่องของรายได้ภาคเกษตร จะช่วยพยุงการบริโภคของเศรษฐกิจฐานรากได้ในระดับหนึ่ง
คาดโควิดคลี่คลายไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
ส่วนสถานการณ์โควิดจะคลี่คลายเมื่อไหร่นั้น จากการประเมินจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศผ่านแบบจำลองโรคระบาด SIR Model (Susceptible Infectious Recovered) ของ สศค. พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อในเดือนกันยายน 2564 จะค่อย ๆ ปรับตัวลดลงและสามารถควบคุมในวงจำกัด และจะลดลงอย่างชัดเจนมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และสามารถเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดได้มากขึ้นตามลำดับ
ทั้งนี้ ในปัจจุบันสถานการณ์การระบาดเริ่มปรับตัวลดลง โดยวันที่ 1 กันยายน 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ 14,802 ราย และมีจำนวนผู้ป่วยรักษาหายอยู่ที่ 18,996 ราย ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้ถึงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นและเริ่มคลี่คลาย
คนไทยฉีดวัคซีนแล้ว 31 ล้านโดส
คาดทั้งปีมีวัคซีน 140 ล้านโดสนอกจากนี้ สถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดี สะท้อนจากจํานวนการได้รับวัคซีนโควิด 19 สะสม (28 กุมภาพันธ์– 30 สิงหาคม 2564) อยู่ที่ 31,902,718 ล้านโดส (ครอบคลุมร้อยละ 48.2 ของประชากรทั้งหมด) สำหรับแผนการจัดหาวัคซีนปี 2564 ของกรมควบคุมโรค
กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ยอดการจัดหาวัคซีนหลักจะได้ 124 ล้านโดสภายในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยแบ่งเป็น (1) ซิโนแวคจะได้รับในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2564 เดือนละ 6 ล้านโดส (2) แอสตร้าเซนเนก้า จะได้รับในเดือนกันยายน 2564 จำนวน 7.3 ล้านโดสและเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 อาจจะส่งมอบได้มากขึ้น
และ (3) ไฟเซอร์ จะได้รับในกันยายน 2564 จำนวน 2 ล้านโดส (แบบไม่เป็นทางการ) และจะได้รับอีก 30 ล้านโดสตามที่ลงจะนามสัญญาภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ หากนับรวมวัคซีนทางเลือก เช่น ซิโนฟาร์ม โมเดอร์นา เป็นต้น ที่จะได้รับในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะทำให้ไทยมีวัคซีนในปี 2564 รวมทั้งสิ้น 140 ล้านโดส ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2564 ต่อเนื่องถึงปี 2565
คาดการบริโภค โต 1% ชี้รัฐมีบทบาทประคองเศรษฐกิจช่วงที่เหลือของปี
ขณะที่ในช่วงที่เหลือของปี 2564 ภาครัฐจะมีบทบาทสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจไทย ผ่านการดำเนินมาตรการทางการคลังของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อาทิ โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และมาตรการด้านการเงินผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับการใช้จ่ายเงินกู้จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนที่เหลืออีกกว่า 3.9 พันล้านบาท
และพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพิ่มเติม) รวมถึงพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ บรรเทาผลกระทบของภาคธุรกิจ และรักษาระดับการจ้างงานให้สูงขึ้น
“สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนปี 2564 จะขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5 (คาดการณ์ ณ กรกฎาคม 2564)”
สัญญาณจ้างงานดีขึ้น ชี้อัตราว่างงานลด เหลือ 1.9%
ทั้งนี้ แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะยังได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่พบว่า ข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้สถานการณ์จ้างงานเริ่มมีสัญญาณปรับดีขึ้น สะท้อนได้จาก อัตราการว่างงานล่าสุดที่ปรับตัวลดลงเหลือร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงาน (ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2564) เทียบกับอัตราการว่างงานที่เคยสูงสุดที่ร้อยละ 2.1 เมื่อเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งผลของการปรับดีขึ้นดังกล่าว
โดยเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลได้ดำเนินดำเนินมาตรการด้านแรงงานที่สำคัญอย่างต่อเนื่องเพื่อเยียวยาผลกระทบและรักษาระดับการจ้างงาน อาทิ เราไม่ทิ้งกัน โครงการ ม.33 เรารักกัน และมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการและผู้ประกันตน ม.33 39 และ 40 เป็นต้น
นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป รัฐบาลได้มีแนวนโยบายผ่อนคลายมาตรการล็อดาวน์เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลาย เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปกติ และเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าต่อได้ ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวของการจ้างงานในช่วงที่เหลือของปี 2564
ที่มาข่าว ประชาชาติธุรกิจ