จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ที่ยังทวีความรุนแรงมากขึ้น และยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังสูงกว่า 1 หมื่นราย ทำให้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส) ต้องยกระดับ ปรับแผนรับมือ เพื่อรองรับการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 รวมถึง ได้ดำเนินการในส่วนต่างๆ เพื่อดูแลให้ทุกคนปลอดภัย และร่วมเป็นกำลังใจ เพื่อผ่านวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ผศ.นพ.เทพลักษ์ ศิริธนะวุฒิชัย คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มมส เล่าว่า โรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ มมส ถือเป็นหัวใจสำคัญ ในการตั้งรับกับโรคร้ายครั้งนี้ โดยได้คำนึงถึงการดูแลคนไข้ที่เข้ามารักษาให้มีความอุ่นใจ รักษาหาย และส่งกลับบ้านด้วยความปลอดภัยทุกคน
ทั้งนี้ นับตั้งแต่มีการระบาดระลอกแรกจนถึงระลอก 3 ผู้บริหาร มมส นำโดย รศ.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดี ได้เดินหน้าเตรียมพร้อมรับมือ โดยกำหนดนโยบาย และมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์ที่ปลอดภัยแก่ประชาชนใน จ.มหาสารคาม ตลอดจนจัดสรรงบประมาณให้กับโรงพยาบาลสุทธาเวช คณะแพทยศาสตร์ เพื่อสนับสนุน และสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินงานที่ได้มาตรฐานในการตรวจรักษาที่รัดกุม รอบคอบ และปลอดภัย โดยปรับแผนรับมือตามสถานการณ์ ดังนี้
1.จัดสร้างห้องปฏิบัติการอณูชีวโมเลกุลทางการแพทย์ ด้วยงบกว่า 3,000,000 บาท เพื่อใช้ในการค้นหาผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ WHO กำหนด สามารถวินิจฉัยโรคผู้ป่วยได้อย่างหลากหลาย และมีความแม่นยำ
2.ให้บริการคลินิกโรคไข้หวัดเคลื่อนที่ (Mobile ARI clinic) เพื่อลดการกระจายเชื้อ และลดความเสี่ยงให้กับเจ้าหน้าที่ แต่สามารถตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะมีทีมแพทย์คอยประสานงาน และส่งรถเพื่อไปรับผู้ป่วยมารักษา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
3.จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม โดยปรับหอพักนิสิตเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับรองรับผู้ป่วยจำนวน 128 เตียง โดยช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา 174 ราย และกำลังรักษา 78 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 96 ราย
4.เตรียมพร้อม Home Isolation สำหรับใช้เป็นสถานที่กักตัวคนไข้ที่ไม่มีอาการ หรือมีอาการ เล็กน้อย มีความเสี่ยงต่ำ (ผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว) โดยปรับหอพักนิสิต 2 หลัง ใช้หอพักเบญจมาศ (หอหญิง 33 ห้อง) และหอปาริชาติ (หอชาย 36 ห้อง) ซึ่งคนไข้จะต้องปฏิบัติตนตามข้อปฏิบัติทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด มหาวิทยาลัยดูแลอาหารให้ 3 มื้อ มีปรอทวัดไข้ มีเครื่องวัดออกซิเจน มีการสื่อสารผ่านวีดีโอคอล เพื่อซักถามอาการระหว่างแพทย์กับคนไข้อย่างใกล้ชิด
5.เร่งฉีดวัคซีนให้บุคลากร และนิสิต โดยขอรับวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เพื่อป้องกันการติดเชื้อให้กับทุกคนอย่างรวดเร็ว และทั่วถึง
ข้อมูลข่าวจาก มติชนออนไลน์