จับตาสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า 2 อัตรา “ครัวเรือน-โรงงาน” หมดอายุเดือน เม.ย. หวั่นค่าไฟรอบใหม่เดือน พ.ค.ประชาชนจ่ายเพิ่มจาก 4.72 บาทเป็น 5.24 บาท/หน่วย เท่าโรงงาน ด้านคณะทำงานค่าไฟฟ้าภาคเอกชนนั่งไม่ติด ขีดเส้นตายค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.เต็มที่ต้องไม่เกิน 5 บาท/หน่วย ยื่นข้อเสนอรัฐกู้วิกฤต 3 ระยะ ย้ำไม่ควรโยนภาระโรงงานแบกหนี้ กฟผ. ขณะที่ กกพ.เบรกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ลากยาวปี 2567 แต่นำอัตราบางส่วนที่ปรับแล้วมาปรับใช้ก่อนหวังลดภาระค่าครองชีพ
การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 1 ในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกปรับขึ้นไปถึง 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก จนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้หารือและมีมติให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลง ด้วยการ “เปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้า” โดยให้แยกอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย หรือเท่ากับการคำนวณค่า Ft งวดสุดท้ายของปี 2565 ขณะที่ภาคเอกชนอุตสาหกรรมมีมติให้จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาท/หน่วย ซึ่ง “แพงกว่า” ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนเป็นระยะเวลา 4 เดือน
ดังนั้นผลของการเปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 อัตรา จะสิ้นสุดลงในการคำนวณค่า Ft งวดที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาอยู่ในระดับสูงมากหรือประมาณ 5.24 บาท/หน่วย จนเป็นที่มาของแรงกดดันจากภาคเอกชนให้รัฐบาลมาวิธีการที่จะลดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดถัดมาลงให้ได้มากที่สุด
ขอค่าไฟ พ.ค.ไม่เกิน 5 บาท
ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนล่าสุด นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้ (31 ม.ค. 66) คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (ส.อ.ท.-สภาหอการค้า/หอการค้าไทย-สมาคมธนาคารไทย) ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงการแก้ปัญหาวิกฤตค่าไฟและค่าพลังงานร่วมกัน
ภายใต้หลักการที่ว่า จะทำอย่างไรให้ค่า Ft งวด 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 มีการบริหารจัดการให้มี “ต้นทุนต่ำที่สุด” โดยจะมีการ update ตัวเลขทุก ๆ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ไป
“ค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคมที่ตัวเลข 5.24 บาท/หน่วยนั้น เป็นการเทียบตัวเลขระดับที่สูงเกินไป ค่าไฟงวดใหม่จึงไม่ควรเกิน 5 บาท/หน่วย เหตุที่เรามองอย่างนี้เป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการคำนวณค่าไฟงวดใหม่ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในขณะนี้เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน บาทแข็งค่าจาก 37 บาทเหลือ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคา LNG ตลาดโลกลดลงเหลือ 20 เหรียญ/ล้าน BTU จากเดิมที่ปรับขึ้นมาสูงถึง 50 เหรียญ/ล้าน BTU
ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจะถูกปรับให้เหลือ 1 อัตราหรือ 2 อัตราแบบที่ใช้อยู่ขณะนี้ (ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนกับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม) ผมมองว่า การปรับค่าไฟฟ้า 2 อัตราแท้ที่จริงเป็นการเอาก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ไปคำนวณช่วยค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนให้ถูกลงเหลือเพียง 4.72 บาท/หน่วย ดังนั้นนโยบายค่าไฟฟ้าต่อไปของรัฐบาลจะต้องพิจารณาความเหมาะสมให้รอบด้าน ไม่ใช่ให้นำภาระต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแพงมาให้ภาคเอกชน
ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ กฟผ.ที่เกิดจากการแบกต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 ก็ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะขององค์กร กกพ. การจะปรับให้เหลือ 1 เรตหรือ 2 เรตแบบเดิมนั้น เรามองว่าการปรับ 2 เรตเป็นนโยบายที่เอาก๊าซธรรมชาติราคาถูกในอ่าวไทยไปช่วยประชาชน ทำให้เสียค่าไฟถูกลงเหลือ 4.72 บาท แต่ต่อไปหากนโยบายจะดำเนินการอย่างไรก็ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมให้รอบด้าน ไม่ใช่นำภาระต้นทุนที่แพงมาให้เอกชน
ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ.ที่แบกรับภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2565 นั้น ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะองค์กร ไม่ควรนำต้นทุนที่แบกไว้มาผูกรวมในการคำนวณค่าไฟฟ้า ควรจะแก้ปัญหาสภาพคล่องในลักษณะอื่น เช่น การไปออกบอนด์” นายอิศเรศกล่าว
ข้อเสนอคณะทำงานค่าไฟเอกชน
พร้อมกันนี้ คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้มีข้อเสนอแนะในการลดค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วน (quick win) ใน 4 ด้าน 1) การหาวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าทดแทนการนำเข้า LNG ราคาสูง การปลดล็อกผลิตไฟฟ้า solar ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ที่ติดตั้งเพื่อใช้เองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาต รง.4 การขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ พิจารณาระบบ net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ
2) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม 3) ลดการลักลอบใช้ไฟฟรี ลดการสูญเสียในระบบ ตรวจสอบการลักลอบขุดเหรียญคริปโต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่ประเทศต้องแบกรับ และ 4) ให้ภาครัฐเร่งผลักดันการแต่งตั้งคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงาน เพื่อร่วมกันหารือแก้ไขปัญหา
ข้อเสนอแนะระยะสั้น (short term) 1) การตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ดี แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ 2) การขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง อันเนื่องมาจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น
3) การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) “แบบขั้นบันได” เพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง off-peak มากขึ้น 4) การคิดสูตรราคาก๊าซธรรมชาติ (NG/LNG) ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 5) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
ข้อเสนอแนะระยะกลาง (medium term) ได้แก่ 1) ปรับรูปแบบ demand charge ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เปิดระบบ TPA (third party access) >> net metering การให้สิทธิภาคเอกชนสามารถใช้ TPA (third party access) เพื่อไปสู่ net metering ได้ โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยให้ภาครัฐสามารถนำเอาไฟที่เหลือ หรือขายไม่หมดจากระบบที่เอกชนผลิตได้ ไปใช้ก่อน โดยเอกชนไม่คิดค่าใช้จ่าย
ซึ่งภาครัฐสามารถนำไฟส่วนนี้ไปบริหารจัดการไฟฟ้าด้านอื่น ๆ หรือไปจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาคครัวเรือนฟรีในช่วงวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) หลังจากนั้นภาครัฐและเอกชนจึงค่อยตกลงซื้อไฟฟ้าในอัตราที่ตกลงกัน
หลังการประชุมร่วมสิ้นสุดลง ในส่วนของกระทรวงพลังงาน รับที่จะเอาข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วน (quick win) ไปดำเนินการ กรณีใบ รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการช่วยเหลือสภาพคล่องของ กฟผ.ของกระทรวงการคลัง ก็จะประสานต่อไป โดยจะกลับมาหารือกันในคณะทำงานค่าไฟฟ้าอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ค่าไฟงวด 2 ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ
ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงแนวทางในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าต่อจากนี้ว่า จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาในระดับนโยบาย โดย กพช.จะมีมติพิจารณาให้ยืดอายุการใช้อัตราค่าไฟฟ้า 2 เรตในงวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หรือไม่ เพราะมติ กพช.ที่ให้จำแนกค่าไฟฟ้า 2 เรตจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้ หาก กพช.ไม่ต่ออายุก็จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องกลับไปจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกันแบบปกติคือ 5.69 บาท/หน่วย
ส่วนแนวโน้มการคำนวณค่า Ft งวด 2 จะเริ่มพิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติทั้งหมด (LNG นำเข้า-ในส่วนของราคา SPOT/สัญญาระยะยาว long term-ราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากเมียนมา-ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ) โดยเฉพาะก๊าซจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งทาง ปตท.สผ.มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากขึ้น รวมถึงระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการนำเข้าด้วย
“ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการใช้ LNG SPOT เกือบเท่ากับ longterm จากปกติที่เราจะใช้สัญญายาวมากกว่า ส่วนก๊าซนำเข้าจากเมียนมาก็ลดลงไปนิดหน่อย จากเดิมที่เคยใช้ประมาณ 16% น้ำมันก็ต้องดู เพราะมีการใช้น้ำมันเข้ามาเสริมในการผลิตไฟฟ้า 4.6% เกือบ 5% ซึ่งมันก็ส่งผลกับราคาค่าไฟ เทียบกับในอดีตเราก็มีการใช้ก๊าซ LNG แต่ว่าเป็นการใช้ด้วยสัญญาระยะยาว ซึ่งเราจะพบว่าสัดส่วนการใช้ LNG เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ที่มี LNG terminal เทียบกันแล้วราคา LNG แพงที่สุดถ้าเทียบกับก๊าซในอ่าวและก๊าซนำเข้าจากเมียนมา” นายคมกฤชกล่าว
ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณของ ปตท.สผ.ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซทั้งหมดที่ใช้ผลิตไฟฟ้านั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียง “แผน” ของ ปตท.สผ.เท่านั้น และตัวเลขผลิตเพิ่มขึ้นนี้ ทาง กกพ.ได้นำมาคำนวณไว้ในค่า Ft งวดที่ 1/2566 แล้ว ดังนั้นจึงเหลือเพียงแต่ว่า “การผลิตจริง” ของ ปตท.สผ.ในแหล่งนี้จะได้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไร “ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีใครรู้”
รื้อโครงสร้างค่าไฟใหม่
ล่าสุดขณะนี้ กกพ.ได้จัดทำ “โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่” เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อทดแทนของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปีฐาน 2558 โดยกำหนดการเดิมเตรียมจะบังคับใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2566 แต่ต้อง “เลื่อน” ออกไปก่อน เพราะเกิดวิกฤตพลังงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565
สำหรับแนวทางการจัดทำโครงสร้างค่าไฟใหม่นั้น กกพ.ยึดตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เป็นหลัก ซึ่งในส่วนของกิจการไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายปลายทาง ได้มีการ “ทบทวนโครงสร้างค่าไฟ” คิดคำนวณ long run marginal cost เทียบกับที่เคยคำนวณมาจะเห็นว่า “ค่าการผลิตจะถูกลง” อีกทั้งยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องระบบการลงทุน ระบบส่ง ระบบจำหน่ายมากขึ้น และมีการเช็กและปรับเปลี่ยนระบบพีก-ออฟพีก เช่น วันเสาร์มีการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่วันเสาร์จะวันออฟพีก คำนวณว่า จะมีการปรับหรือไม่ แต่หน่วยก็ยังเป็นหน่วยเดิม
พร้อมกันนี้ก็ได้มีการทบทวน “อัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง” เช่น ช่วงพีกลดลงทั้งหมด จากเดิมคำนวณระหว่าง 3.3922-4.2243 บาท/หน่วย ก็ลดลงเหลือ 3.3568-4.1889 บาท/หน่วย ส่วนช่วงออฟพีกจาก 2.3316-2.3567 บาท/หน่วยเหลือ 2.2962-2.3213 บาท/หน่วย ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ
รวมถึงมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของ 3 การไฟฟ้า การทบทวนการกำกับดูแลงบฯลงทุน (OPEX) ของการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการกำกับประสิทธิภาพ มีการพิจารณาทบทวนผลตอบแทนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนปกติ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หากการลงทุนโครงการปกติก็จะคงงบประมาณไว้ แต่สำหรับโครงการลงทุนที่มีการใช้งบประมาณสูง ๆ อย่างเช่น โครงการสายไฟใต้ดิน ก็จะปรับและการทำงานที่เป็นงานสนับสนุนก็ให้เฉพาะคืนไป ไม่ให้ผลตอบแทน
นอกจากนี้ยังมีการกำหนดขอบเขต “ค่าใช้จ่ายผันแปรที่ควบคุมไม่ได้” ที่ 40% จากเดิมปรับตามค่าใช้จ่ายจริงและปรับลดค่าใช้จ่ายผันแปรที่ควบคุมได้ จากเดิมกำหนดไว้ 60% ให้เหลือ 40% ซึ่งถือว่ามีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการกำกับ ส่วนแนวทางการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือค่าไฟฟรี 50 หน่วย ตรวจสอบสิทธิให้ผู้ใช้ 1 รายต่อ 1 สิทธิลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และตรวจสอบคุณสมบัติผ่าน e-Social welfare นำค่าใช้จ่ายที่อุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมกับความต้องการรายได้ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้า
และสุดท้าย นโยบายที่ให้แยก policy extent หรือการแยกนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐออกมา ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีเพิ่มเติมเข้ามาเรื่องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน กับส่วนที่ฝังอยู่ในค่าไฟฐานในอดีต ดังนั้นถ้าแยกนโยบายก็จะต้องแยกออกมาทั้งหมด ซึ่งการแยกออกมาทั้งหมดก็จะต้องไปปรับ “เรตค่าไฟใหม่” แต่ยังชั่งใจว่า การที่จะปรับตอนนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะมันอยู่ในช่วงค่าไฟที่กำลังแพงด้วยราคาก๊าซธรรมชาติ
ส่งผลให้ กกพ.มีมติออกมาว่า ให้ชะลอการปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ไว้ก่อน แต่ได้นำเอาบางส่วนของผลสรุปการปรับโครงสร้างค่าไฟมาใช้ เช่น การรีวิวค่าจดหน่วยเก็บบิล ซึ่งได้เคยประกาศไปแล้วว่า 3 กลุ่มจดหน่วยเก็บบิลที่คิดออกมาจะลดลงมาให้จาก 38 บาทเป็น 24 บาท
“เราทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่เสร็จตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ด้วยจังหวะที่เป็นสภาวะที่ราคาพลังงานแพง เราจะไปปรับฐานใหม่ก็จะมีคนมองว่า ตัวเลขมีการคำนวณอาจจะส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้า เพราะฐานในการคำนวณเป็นช่วงที่ตลาดไฟฟ้ามีวิกฤตด้านพลังงาน
ดังนั้นก็จะรอดูว่า มีอัตราอะไรที่ปรับใช้ได้ก่อนเราก็จะปรับใช้ไป ต้องรอให้ราคามันลงแล้วค่อยมาปรับเพื่อให้มันนิ่ง ที่มีการทบทวนคือ เรื่อง peak อัตรารายเดือน EV มีการประเมินใหม่ว่า อัตราที่ควรจะเป็นควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ก็สรุปได้ว่า อัตราที่ควรจะเป็นก็คือ เท่ากับค่าไฟขายส่ง ให้มีความเป็นธรรมทั้งหมด คาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะถูกประกาศใช้ได้ในปี 2567” นายคมกฤชกล่าว
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ