Connect with us

Breaking News

อ่วม! ปรับสูตรค่าไฟ พ.ค.นี้ ชาวบ้านผวาจ่ายแพงเท่าโรงงาน

Published

on

จับตาสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า 2 อัตรา “ครัวเรือน-โรงงาน” หมดอายุเดือน เม.ย. หวั่นค่าไฟรอบใหม่เดือน พ.ค.ประชาชนจ่ายเพิ่มจาก 4.72 บาทเป็น 5.24 บาท/หน่วย เท่าโรงงาน ด้านคณะทำงานค่าไฟฟ้าภาคเอกชนนั่งไม่ติด ขีดเส้นตายค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค.เต็มที่ต้องไม่เกิน 5 บาท/หน่วย ยื่นข้อเสนอรัฐกู้วิกฤต 3 ระยะ ย้ำไม่ควรโยนภาระโรงงานแบกหนี้ กฟผ. ขณะที่ กกพ.เบรกโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ลากยาวปี 2567 แต่นำอัตราบางส่วนที่ปรับแล้วมาปรับใช้ก่อนหวังลดภาระค่าครองชีพ

การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดที่ 1 ในเดือนมกราคม-เมษายน 2566 ได้ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าถูกปรับขึ้นไปถึง 5.69 บาท/หน่วย ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก จนคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้หารือและมีมติให้ปรับลดค่าไฟฟ้าลง ด้วยการ “เปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้า” โดยให้แยกอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับภาคครัวเรือนอยู่ที่ 4.72 บาท/หน่วย หรือเท่ากับการคำนวณค่า Ft งวดสุดท้ายของปี 2565 ขณะที่ภาคเอกชนอุตสาหกรรมมีมติให้จ่ายค่าไฟฟ้าในอัตรา 5.33 บาท/หน่วย ซึ่ง “แพงกว่า” ค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนเป็นระยะเวลา 4 เดือน

ดังนั้นผลของการเปลี่ยนสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าแยกเป็น 2 อัตรา จะสิ้นสุดลงในการคำนวณค่า Ft งวดที่ 2 ของเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2566 มีแนวโน้มที่จะกลับมาอยู่ในระดับสูงมากหรือประมาณ 5.24 บาท/หน่วย จนเป็นที่มาของแรงกดดันจากภาคเอกชนให้รัฐบาลมาวิธีการที่จะลดอัตราค่าไฟฟ้าในงวดถัดมาลงให้ได้มากที่สุด

ขอค่าไฟ พ.ค.ไม่เกิน 5 บาท

ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชนล่าสุด นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า วันนี้ (31 ม.ค. 66) คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (ส.อ.ท.-สภาหอการค้า/หอการค้าไทย-สมาคมธนาคารไทย) ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวงพลังงานและสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถึงการแก้ปัญหาวิกฤตค่าไฟและค่าพลังงานร่วมกัน

ภายใต้หลักการที่ว่า จะทำอย่างไรให้ค่า Ft งวด 2 เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2566 มีการบริหารจัดการให้มี “ต้นทุนต่ำที่สุด” โดยจะมีการ update ตัวเลขทุก ๆ 2 สัปดาห์ต่อจากนี้ไป

“ค่าไฟฟ้าสำหรับงวดเดือนพฤษภาคมที่ตัวเลข 5.24 บาท/หน่วยนั้น เป็นการเทียบตัวเลขระดับที่สูงเกินไป ค่าไฟงวดใหม่จึงไม่ควรเกิน 5 บาท/หน่วย เหตุที่เรามองอย่างนี้เป็นเพราะปัจจัยต่าง ๆ ที่ใช้ในการคำนวณค่าไฟงวดใหม่ได้ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะถูกผลิตเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในขณะนี้เป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน บาทแข็งค่าจาก 37 บาทเหลือ 32 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคา LNG ตลาดโลกลดลงเหลือ 20 เหรียญ/ล้าน BTU จากเดิมที่ปรับขึ้นมาสูงถึง 50 เหรียญ/ล้าน BTU

อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

ส่วนอัตราค่าไฟฟ้าจะถูกปรับให้เหลือ 1 อัตราหรือ 2 อัตราแบบที่ใช้อยู่ขณะนี้ (ค่าไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนกับค่าไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรม) ผมมองว่า การปรับค่าไฟฟ้า 2 อัตราแท้ที่จริงเป็นการเอาก๊าซธรรมชาติราคาถูกจากอ่าวไทย ไปคำนวณช่วยค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนให้ถูกลงเหลือเพียง 4.72 บาท/หน่วย ดังนั้นนโยบายค่าไฟฟ้าต่อไปของรัฐบาลจะต้องพิจารณาความเหมาะสมให้รอบด้าน ไม่ใช่ให้นำภาระต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าแพงมาให้ภาคเอกชน

ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องของ กฟผ.ที่เกิดจากการแบกต้นทุนผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 ก็ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะขององค์กร กกพ. การจะปรับให้เหลือ 1 เรตหรือ 2 เรตแบบเดิมนั้น เรามองว่าการปรับ 2 เรตเป็นนโยบายที่เอาก๊าซธรรมชาติราคาถูกในอ่าวไทยไปช่วยประชาชน ทำให้เสียค่าไฟถูกลงเหลือ 4.72 บาท แต่ต่อไปหากนโยบายจะดำเนินการอย่างไรก็ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมให้รอบด้าน ไม่ใช่นำภาระต้นทุนที่แพงมาให้เอกชน

ส่วนการแก้ปัญหาสภาพคล่องของ กฟผ.ที่แบกรับภาระต้นทุนผลิตไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2565 นั้น ควรจะเป็นเรื่องเฉพาะองค์กร ไม่ควรนำต้นทุนที่แบกไว้มาผูกรวมในการคำนวณค่าไฟฟ้า ควรจะแก้ปัญหาสภาพคล่องในลักษณะอื่น เช่น การไปออกบอนด์” นายอิศเรศกล่าว

ข้อเสนอคณะทำงานค่าไฟเอกชน

พร้อมกันนี้ คณะทำงานค่าไฟฟ้าของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน ได้มีข้อเสนอแนะในการลดค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วน (quick win) ใน 4 ด้าน 1) การหาวัตถุดิบผลิตไฟฟ้าทดแทนการนำเข้า LNG ราคาสูง การปลดล็อกผลิตไฟฟ้า solar ส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) ที่ติดตั้งเพื่อใช้เองมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นใบอนุญาต รง.4 การขยายกำลังไฟฟ้าเกิน 1 MW (แต่ไม่เกินกำลังไฟฟ้าปกติเดิมที่เคยใช้) ลดภาษีนำเข้าอุปกรณ์ต่าง ๆ พิจารณาระบบ net metering สำหรับอุตสาหกรรมและบริการ

2) ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม 3) ลดการลักลอบใช้ไฟฟรี ลดการสูญเสียในระบบ ตรวจสอบการลักลอบขุดเหรียญคริปโต ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่ประเทศต้องแบกรับ และ 4) ให้ภาครัฐเร่งผลักดันการแต่งตั้งคณะกรรมการรวมภาครัฐและเอกชนด้านพลังงาน หรือ กรอ.ด้านพลังงาน เพื่อร่วมกันหารือแก้ไขปัญหา

ข้อเสนอแนะระยะสั้น (short term) 1) การตรึงราคาค่าไฟฟ้าในกลุ่มบ้านอยู่อาศัยเป็นสิ่งที่ดี แต่ภาครัฐควรหางบประมาณจากส่วนอื่นมาช่วยเหลือ กลุ่มบ้านอยู่อาศัย โดยต้องไม่ผลักภาระต้นทุนส่วนเพิ่มมาให้เป็นภาระของผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนที่เหลือ 2) การขยายเพดานหนี้ 2 ปี ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วยการเพิ่มเพดานเงินกู้เฉพาะกิจ การจัดสรรวงเงินให้ยืม การชะลอการส่งเงินรายได้เข้าคลัง อันเนื่องมาจากภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกภาระแทนประชาชนไปก่อนนั้น

3) การปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า โดยขอให้มีการปรับค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) “แบบขั้นบันได” เพื่อลดผลกระทบผู้ประกอบการและการนำค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มครั้งนี้มาหักค่าใช้จ่ายหรือลดหย่อนภาษีได้ 2-3 เท่า เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีการปรับกระบวนการผลิตให้มาใช้ไฟฟ้าในช่วง off-peak มากขึ้น 4) การคิดสูตรราคาก๊าซธรรมชาติ (NG/LNG) ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และ 5) ส่งเสริมโรงไฟฟ้าขยะ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

ข้อเสนอแนะระยะกลาง (medium term) ได้แก่ 1) ปรับรูปแบบ demand charge ให้สอดคล้องกับปัจจุบัน เปิดระบบ TPA (third party access) >> net metering การให้สิทธิภาคเอกชนสามารถใช้ TPA (third party access) เพื่อไปสู่ net metering ได้ โดยเสนอให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน โดยให้ภาครัฐสามารถนำเอาไฟที่เหลือ หรือขายไม่หมดจากระบบที่เอกชนผลิตได้ ไปใช้ก่อน โดยเอกชนไม่คิดค่าใช้จ่าย

ซึ่งภาครัฐสามารถนำไฟส่วนนี้ไปบริหารจัดการไฟฟ้าด้านอื่น ๆ หรือไปจำหน่ายไฟฟ้าให้ภาคครัวเรือนฟรีในช่วงวันหยุด (เสาร์-อาทิตย์) หลังจากนั้นภาครัฐและเอกชนจึงค่อยตกลงซื้อไฟฟ้าในอัตราที่ตกลงกัน

หลังการประชุมร่วมสิ้นสุดลง ในส่วนของกระทรวงพลังงาน รับที่จะเอาข้อเสนอแนะอย่างเร่งด่วน (quick win) ไปดำเนินการ กรณีใบ รง.4 ของกระทรวงอุตสาหกรรม และการช่วยเหลือสภาพคล่องของ กฟผ.ของกระทรวงการคลัง ก็จะประสานต่อไป โดยจะกลับมาหารือกันในคณะทำงานค่าไฟฟ้าอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า

ค่าไฟงวด 2 ขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ

ด้านนายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงแนวทางในการกำกับดูแลค่าไฟฟ้าต่อจากนี้ว่า จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาในระดับนโยบาย โดย กพช.จะมีมติพิจารณาให้ยืดอายุการใช้อัตราค่าไฟฟ้า 2 เรตในงวดที่ 2 เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 หรือไม่ เพราะมติ กพช.ที่ให้จำแนกค่าไฟฟ้า 2 เรตจะสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนนี้ หาก กพช.ไม่ต่ออายุก็จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องกลับไปจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราเดียวกันแบบปกติคือ 5.69 บาท/หน่วย

ส่วนแนวโน้มการคำนวณค่า Ft งวด 2 จะเริ่มพิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะพิจารณาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติทั้งหมด (LNG นำเข้า-ในส่วนของราคา SPOT/สัญญาระยะยาว long term-ราคาก๊าซธรรมชาติที่นำเข้าจากเมียนมา-ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ภายในประเทศ) โดยเฉพาะก๊าซจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทย ซึ่งทาง ปตท.สผ.มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตให้ได้มากขึ้น รวมถึงระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการนำเข้าด้วย

“ในช่วงที่ผ่านมาไทยมีการใช้ LNG SPOT เกือบเท่ากับ longterm จากปกติที่เราจะใช้สัญญายาวมากกว่า ส่วนก๊าซนำเข้าจากเมียนมาก็ลดลงไปนิดหน่อย จากเดิมที่เคยใช้ประมาณ 16% น้ำมันก็ต้องดู เพราะมีการใช้น้ำมันเข้ามาเสริมในการผลิตไฟฟ้า 4.6% เกือบ 5% ซึ่งมันก็ส่งผลกับราคาค่าไฟ เทียบกับในอดีตเราก็มีการใช้ก๊าซ LNG แต่ว่าเป็นการใช้ด้วยสัญญาระยะยาว ซึ่งเราจะพบว่าสัดส่วนการใช้ LNG เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2554 ที่มี LNG terminal เทียบกันแล้วราคา LNG แพงที่สุดถ้าเทียบกับก๊าซในอ่าวและก๊าซนำเข้าจากเมียนมา” นายคมกฤชกล่าว

ทั้งนี้มีข้อน่าสังเกตว่า การผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณของ ปตท.สผ.ที่จะเพิ่มขึ้นจาก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ซึ่งจะมีนัยสำคัญต่อการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซทั้งหมดที่ใช้ผลิตไฟฟ้านั้น ขณะนี้ยังเป็นเพียง “แผน” ของ ปตท.สผ.เท่านั้น และตัวเลขผลิตเพิ่มขึ้นนี้ ทาง กกพ.ได้นำมาคำนวณไว้ในค่า Ft งวดที่ 1/2566 แล้ว ดังนั้นจึงเหลือเพียงแต่ว่า “การผลิตจริง” ของ ปตท.สผ.ในแหล่งนี้จะได้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อไร “ซึ่งตรงนี้ยังไม่มีใครรู้”

รื้อโครงสร้างค่าไฟใหม่

ล่าสุดขณะนี้ กกพ.ได้จัดทำ “โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่” เสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปลายปี 2565 เพื่อทดแทนของเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปีฐาน 2558 โดยกำหนดการเดิมเตรียมจะบังคับใช้โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2566 แต่ต้อง “เลื่อน” ออกไปก่อน เพราะเกิดวิกฤตพลังงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565

สำหรับแนวทางการจัดทำโครงสร้างค่าไฟใหม่นั้น กกพ.ยึดตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) เป็นหลัก ซึ่งในส่วนของกิจการไฟฟ้าที่มีการจำหน่ายปลายทาง ได้มีการ “ทบทวนโครงสร้างค่าไฟ” คิดคำนวณ long run marginal cost เทียบกับที่เคยคำนวณมาจะเห็นว่า “ค่าการผลิตจะถูกลง” อีกทั้งยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องระบบการลงทุน ระบบส่ง ระบบจำหน่ายมากขึ้น และมีการเช็กและปรับเปลี่ยนระบบพีก-ออฟพีก เช่น วันเสาร์มีการใช้ไฟเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่วันเสาร์จะวันออฟพีก คำนวณว่า จะมีการปรับหรือไม่ แต่หน่วยก็ยังเป็นหน่วยเดิม

พร้อมกันนี้ก็ได้มีการทบทวน “อัตราค่าไฟฟ้าขายส่ง” เช่น ช่วงพีกลดลงทั้งหมด จากเดิมคำนวณระหว่าง 3.3922-4.2243 บาท/หน่วย ก็ลดลงเหลือ 3.3568-4.1889 บาท/หน่วย ส่วนช่วงออฟพีกจาก 2.3316-2.3567 บาท/หน่วยเหลือ 2.2962-2.3213 บาท/หน่วย ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าต้องสะท้อนรายได้ที่พึงได้รับ

รวมถึงมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของ 3 การไฟฟ้า การทบทวนการกำกับดูแลงบฯลงทุน (OPEX) ของการไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการกำกับประสิทธิภาพ มีการพิจารณาทบทวนผลตอบแทนใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเงินลงทุนปกติ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม หากการลงทุนโครงการปกติก็จะคงงบประมาณไว้ แต่สำหรับโครงการลงทุนที่มีการใช้งบประมาณสูง ๆ อย่างเช่น โครงการสายไฟใต้ดิน ก็จะปรับและการทำงานที่เป็นงานสนับสนุนก็ให้เฉพาะคืนไป ไม่ให้ผลตอบแทน

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดขอบเขต “ค่าใช้จ่ายผันแปรที่ควบคุมไม่ได้” ที่ 40% จากเดิมปรับตามค่าใช้จ่ายจริงและปรับลดค่าใช้จ่ายผันแปรที่ควบคุมได้ จากเดิมกำหนดไว้ 60% ให้เหลือ 40% ซึ่งถือว่ามีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการกำกับ ส่วนแนวทางการอุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสหรือค่าไฟฟรี 50 หน่วย ตรวจสอบสิทธิให้ผู้ใช้ 1 รายต่อ 1 สิทธิลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และตรวจสอบคุณสมบัติผ่าน e-Social welfare นำค่าใช้จ่ายที่อุดหนุนผู้ใช้ไฟฟ้า รวมกับความต้องการรายได้ในการพิจารณาฐานะการเงินของการไฟฟ้า

และสุดท้าย นโยบายที่ให้แยก policy extent หรือการแยกนโยบายสนับสนุนจากภาครัฐออกมา ซึ่งก็จะมีอยู่ 2 ส่วนคือ ส่วนที่มีเพิ่มเติมเข้ามาเรื่องการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน กับส่วนที่ฝังอยู่ในค่าไฟฐานในอดีต ดังนั้นถ้าแยกนโยบายก็จะต้องแยกออกมาทั้งหมด ซึ่งการแยกออกมาทั้งหมดก็จะต้องไปปรับ “เรตค่าไฟใหม่” แต่ยังชั่งใจว่า การที่จะปรับตอนนี้เป็นสิ่งที่ดีหรือไม่ดี เพราะมันอยู่ในช่วงค่าไฟที่กำลังแพงด้วยราคาก๊าซธรรมชาติ

ส่งผลให้ กกพ.มีมติออกมาว่า ให้ชะลอการปรับโครงสร้างค่าไฟใหม่ไว้ก่อน แต่ได้นำเอาบางส่วนของผลสรุปการปรับโครงสร้างค่าไฟมาใช้ เช่น การรีวิวค่าจดหน่วยเก็บบิล ซึ่งได้เคยประกาศไปแล้วว่า 3 กลุ่มจดหน่วยเก็บบิลที่คิดออกมาจะลดลงมาให้จาก 38 บาทเป็น 24 บาท

“เราทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่เสร็จตั้งแต่ปลายปี 2565 แต่ด้วยจังหวะที่เป็นสภาวะที่ราคาพลังงานแพง เราจะไปปรับฐานใหม่ก็จะมีคนมองว่า ตัวเลขมีการคำนวณอาจจะส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้า เพราะฐานในการคำนวณเป็นช่วงที่ตลาดไฟฟ้ามีวิกฤตด้านพลังงาน

ดังนั้นก็จะรอดูว่า มีอัตราอะไรที่ปรับใช้ได้ก่อนเราก็จะปรับใช้ไป ต้องรอให้ราคามันลงแล้วค่อยมาปรับเพื่อให้มันนิ่ง ที่มีการทบทวนคือ เรื่อง peak อัตรารายเดือน EV มีการประเมินใหม่ว่า อัตราที่ควรจะเป็นควรจะอยู่ที่เท่าไหร่ก็สรุปได้ว่า อัตราที่ควรจะเป็นก็คือ เท่ากับค่าไฟขายส่ง ให้มีความเป็นธรรมทั้งหมด คาดว่าโครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่จะถูกประกาศใช้ได้ในปี 2567” นายคมกฤชกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ

Breaking News

มท.1 ลงนามคำสั่งตั้ง “คณะกรรมการอำนวยการป้องกันและปราบปรามผู้มีอิทธิพล”

Published

on

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading

Breaking News

รมช.สธ. ผลักดันผลิตแพทย์อีก 2.5 หมื่นคน กระจายลง รพ.สต.แห่งละ 3 คน

Published

on

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading

Breaking News

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ จำนวน 28 อัตรา

Published

on

ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขัน

ประกาศสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการในตำแหน่งต่าง ๆ ดังนี้

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading
Advertisement

Trending

Copyright © 2023 katipnews.com กระติบนิวส์ best counter