เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 28 มิถุนายน กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (137/2565) ลงวันที่ 28 มิถุนายน 2565 แจ้งว่า วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2565 หย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง มีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น และเคลื่อนที่ขึ้นฝั่งบริเวณสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ ประกอบกับวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) จึงได้แจ้ง 16 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์ ระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน-2 กรกฎาคม 2565 ดังนี้
พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
ภาคเหนือ ในพื้นที่ 9 จังหวัด ได้แก่
– แม่ฮ่องสอน ในพื้นที่ทุกอำเภอ
– เชียงใหม่ ในพื้นที่ 10 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ แม่แจ่ม เวียงแหง เชียงดาว แม่แตง ดอยสะเก็ด สะเมิง หางดง กัลยาณิวัฒนา และอมก๋อย
– เชียงราย ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงราย แม่สรวย แม่ฟ้าหลวง แม่จัน และเวียงแก่น
– ลำพูน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำพูน แม่ทา บ้านโฮ่ง ทุ่งหัวช้าง ลี้ และบ้านธิ
– ลำปาง ในพื้นที่ 12 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองลำปาง เถิน เสริมงาม สบปราบ วังเหนือ เมืองปาน แจ้ห่ม งาว แม่เมาะ ห้างฉัตร แม่ทะ และแม่พริก
– พะเยา ในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพะเยา เชียงคา ปง จุน และภูซาง
– น่าน ในพื้นที่ 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาหมื่น สองแคว เฉลิมพระเกียรติ ปัว เวียงสา ทุ่งช้าง ท่าวังผา บ่อเกลือ แม่จริม
– แพร่ ในพื้นที่ทุกอำเภอ
– อุตรดิตถ์ ในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอท่าปลา บ้านโคก น้ำปาด และลับแล
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่
– เลย ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองเลย นาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือ ภูหลวง และปากชม
– หนองบัวลำภู ในพื้นที่อำเภอสุวรรณคูหา
– บึงกาฬ ในพื้นที่อำเภอบุ่งคล้า
– อุดรธานี ในพื้นที่ 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนายูง และน้ำโสม
– หนองคาย ในพื้นที่อำเภอสังคม
– นครพนม ในพื้นที่อำเภอเมืองนครพนม
– สกลนคร ในพื้นที่อำเภอภูพาน
โดยได้ประสานให้จังหวัดเสี่ยงภัยและศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยและทีมปฏิบัติการเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากประเมินแล้วมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด
ที่มา :ปภ.