เมื่อวันที่ 31 ม.ค.66 นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (31 ม.ค.66) เห็นชอบประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา เพื่อส่งเสริมให้แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับแรงงาน 3 กลุ่มอาชีพ 17 สาขา ได้แก่ กลุ่มช่างอุตสาหการ ประกอบด้วย ช่างระบบส่งถ่ายกำลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 495 บาท ช่างระบบปั๊มและวาล์ว ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 515 ช่างประกอบโครงสร้างเหล็ก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 ช่างปรับ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท
ผู้ควบคุมระบบงานเชื่อมมิก-แม็ก ด้วยหุ่นยนต์ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท และช่างเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 545 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 635 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 715 บาท
กลุ่มสาขาอาชีพช่างเครื่องกล ประกอบด้วย สาขาช่างซ่อมรถแทรกเตอร์การเกษตร ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 465 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 535 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 620 บาท สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตักหน้าขุดหลัง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 585 บาท
สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถขุด ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 570 บาท สาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถลากจูง ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 555 บาท และสาขาพนักงานควบคุมเครื่องจักรรถตัก ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท
กลุ่มสาขาอาชีพภาคบริการ ประกอบด้วย นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (โภชนบำบัด) นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (วารีบำบัด) นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (สุคนธบำบัด) ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 500 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท
พนักงานผสมเครื่องดื่ม ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 475 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 525 บาท และระดับ 3 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 530 บาท และช่างเครื่องช่วยคนพิการ ระดับ 1 อัตราค่าจ้างวันละไม่ต่ำกว่า 520 บาท ระดับ 2 ไม่ต่ำกว่าวันละ 600 บาท
“ซึ่งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ประกาศก่อนหน้านี้แล้ว 112 สาขา และเมื่อมีประกาศเพิ่มอีก 17 สาขา รวมเป็น 129 สาขา ทำให้ครอบคลุมสาขาอาชีพที่ต้องการแรงงานฝีมือแรงงานมากยิ่งขึ้น แรงงานที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานตามสาขาดังกล่าว จะได้รับค่าจ้างเหมาะสมกับทักษะฝีมือ ส่วนนายจ้างและสถานประกอบกิจการได้แรงงานที่การันตีทักษะฝีมือ จึงเชิญชวนเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน โดยติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสายด่วน 1506 กด 4” นายสุชาติ กล่าว
ที่มาข่าว : ข่าวสด