ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกฯ ยื่นขอ “ประกันสังคม” ช่วยค่าใช้จ่ายตรวจ “โควิด” ให้พนักงานโรงงาน
วันที่ 9 มกราคม 2564 ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคตะวันออกในสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง
และล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ได้ทำหนังสือไปถึงนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี และกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ทางสำนักงานงานประกันสังคมเข้ามาช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจโควิดให้พนักงานในโรงงาน
นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ กรรมการผู้จัดการ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผย”ประชาชาติธุรกิจ”ว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564 ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรีได้ทำหนังสือยื่นไปยังนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี และผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการฉุกเฉินในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี
เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาจจะมีโอกาสระบาดเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งบริเวณนิคมอุตสาหกรรม และนอกนิคมอุตสาหกรรม อาจทำให้สถานประกอบการเกิดความปั่นป่วน และมีโอกาสปิดหรือหยุดการผลิตในสถานประกอบการได้
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี จึงขอให้ทางจังหวัดหาแนวทางในการตรวจค้นหาเชื้อและป้องกันเชิงรุกในสถานประกอบการ ซึ่งพนักงานดังกล่าวเป็นผู้ประกันตนของสำนักงานประกันสังคม โดยอาจจะออกมาตรการเชิงรุก และประกาศให้สถานประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมหรือในสถานประกอบการในเขตพื้นที่จ.ชลบุรีได้เข้าถึงการตรวจเชิงรุกได้นั้น
ปรากฏว่า หลังจากการยื่นหนังสือดังกล่าว เมื่อวานนี้ (8 มกราคม 2564) ทางจังหวัดได้แจ้งให้ทราบว่า ทางศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณเหลือรพ ปุณณกันต์ ประธานกรรมการการแพทย์ ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการ สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด
โดยสรุปด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่มีการระบาดใหม่อย่างรวดเร็ว ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ให้มีการจำกัดอยู่ในพื้นที่ไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ตลอดจนสุขภาวะของประชาชนทั่วประเทศ
คณะกรรมการการแพทย์ ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และอัตราค่าบริการทางการแพทย์กรณีคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 ให้ผู้ประกันตนได้รับบริการทางการแพทย์เชิงรุก(Active case finding)เพื่อการค้นหาผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการ สำหรับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามระดับความรุนแรงที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19(ศบค.)มีคำสั่ง
โดยใช้การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยเทคนิค Real time Reverse Transcription Polymerase Chain Reaction(Real time RT-PCR) เพื่อค้นหาผู้ประกันตนที่อาจติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบการ ซึ่งต้องไม่ได้เป็นผู้รับสิทธิจากหน่วยงานภาครัฐอื่น หรือต้องไม่เคยได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 ด้วยเหตุเกณฑ์ตามกลุ่มเสี่ยงตามที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขกำหนด หรือการตรวจคัดกรองก่อนหน้านี้
ให้สำนักงานประกันสังคมพิจารณาจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและจัดสรรจำนวนผู้ประกันตนที่จะได้รับการตรวจคัดกรองโควิด-19ในสถานประกอบการ โดยให้สำนักงานจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เป็นค่าตรวจคัดกรองการติดเชื้อโควิด-19 และค่าบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการแก่สถานพยาบาลในอัตราเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ตามระเบียบกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่าด้วยอัตราค่าตรวจวิเคราะห์และให้บริการ หรือตามที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด
ทั้งนี้ให้สถานพยาบาลจัดส่งข้อมูลค่าบริการทางการแพทย์ให้สำนักงานประกันสังคมตามรูปแบบที่กำหนด
ข้อมูลข่าวจาก ประชาชาติ