Connect with us

Breaking News

สนามบินมหาสารคาม หายไปไหน… ทำไมจึงเปลี่ยนไป?

Published

on

สนามบินมหาสารคาม

รู้ไหมว่า “มหาสารคามเคยมีสนามบิน”…แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป?

จังหวัดมหาสารคามตั้งอยู่กึ่งกลางของภาคอีสาน เป็นจังหวัดขนาดเล็กมีพื้นที่เป็นลำดับที่15 ของภาคอีสาน จังหวัดมหาสารคามมีพัฒนาการตั้งขึ้นเป็น “เมืองมหาสารคาม” เมื่อ พ.ศ. 2408 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประชาชนส่วนใหญ่นับถือพุทธศาสนา และประกอบอาชีพด้านกสิกรรม ดำรงชีวิตตามขนบธรรมเนียมจารีตประเพณี “ฮีตสิบสอง คองสิบสี่” ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมีการไปมาหาสู่กัน ช่วยเหลือพึ่งพาอาศัยกันตามแบบของคนอีสานทั่วไป

เครื่องบินที่มาแสดงในงานเปิดสนามบินที่มณฑลร้อยเอ็ด วันที่ 7 เมษายน 2465 (ภาพจากการค้นคว้าของ คุณวีระ วุฒิจำนงค์)

เมื่อปี พ.ศ. 2464 ในยุคของ พระยาสารคามคณาภิบาล (ทิพย์ โรจน์ประดิษฐ์) เจ้าเมืองคนที่ 7 (พ.ศ.2462 – 2466) ทางราชการเมืองมหาสารคามจึงได้มีการก่อสร้างสนามบินประจำจังหวัดในมณฑลร้อยเอ็ด ขึ้นที่บริเวณหนองข่า ปัจจุบันส่วนหนึ่งคือโรงพยาบาลสุทธาเวช โดยทางราชการได้รับความร่วมมือจากประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคามและผู้ต้องขังในเรือนจำมหาสารคาม ช่วยกันตัดไม้ถางวัชพืชทำความสะอาด แล้วช่วยกันก่อสร้างสนามบินมหาสารคามจนแล้วเสร็จ และยังได้ร่วมบริจาคเงินให้กับทางราชการ เพื่อเป็นกำลังทรัพย์บำรุงกำลังของกองทัพอากาศส่วนหนึ่งในการก่อสร้างสนามบิน ซึ่งการบริจาคได้รับการตอบรับ และร่วมมือจากประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดและชาวเมืองมหาสารคามเป็นอย่างดี ดังในคำแถลงการณ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต องค์เสนาธิการทหารบก เรื่องแสดงการบินในมณฑลร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2465 ว่า

…ประชาชนในมณฑลนี้เห็นประโยชน์ของการบินอันเป็นกำลังของชาติบ้านเมืองอย่างแน่แท้ เมื่อคิดดูว่ามณฑลนี้เป็นมณฑลชั้นนอกมีเพียง 3 จังหวัดเท่านั้น ก็ยังได้เงินมากมายอย่างน่าพิศวงเพียงนี้ แสดงให้เห็นประจักษ์ว่าประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ดเต็มไปด้วยความมุ่งหมายที่จะช่วยบำรุงกำลังของชาติให้เจริญยิ่งขึ้นตามลำดับ ไม่สักแต่กล่าวด้วยวาจาว่า รักชาติ…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพลสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2465)

ได้เงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ เมื่อการก่อสร้างสนามบินได้เสร็จเรียบร้อย สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้แจ้งความประสงค์ต่อกระทรวงกลาโหม ขอให้นักบินนำเครื่องบินไปแสดงให้พลเมืองดูเพื่อเป็นการปลุกใจให้เห็นประโยชน์ของการบิน และได้จัดงานเปิดสนามบินมหาสารคามอย่างใหญ่โต มีการเก็บบัตรค่าผ่านประตู ในวันที่ 7 เมษายน 2465 นายร้อยเอกหลี สุวรรณานุช นายหัวหน้านักบิน ได้นำเครื่องบินจากสนามบินจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 5 เครื่อง ไปลงที่สนามบินจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดมหาสารคาม เปิดให้ประชาชนเข้าดูตัวเครื่องบิน ประชาชนในจังหวัดมหาสารคามให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ได้มีผู้คนเข้ามาดูเครื่องบินและมาเที่ยวงานเปิดสนามบินอย่างไม่ขาดสาย

จากนั้นในวันที่ 8 และวันที่ 9 เมษายน นักบินได้นำเครื่องบินขึ้นแสดงในอากาศและบินลงรับคนโดยสารขึ้นเครื่องบินพาไปในอากาศวิถี การที่ประชาชนในมณฑลร้อยเอ็ด (ร้อยเอ็ด มหาสารคามและกาฬสินธุ์) ได้เต็มใจช่วยกันบริจาคทรัพย์บำรุงกำลังทางอากาศเป็นจำนวนเงินบริจาคทั้งสิ้น 225,300 บาท 20 สตางค์ และเพื่อให้เป็นเครื่องหมายแสดงถึงคุณงามความดีในความสามัคคีพร้อมเพรียง กระทรวงกลาโหมจึงได้จารึกอักษรไว้ที่เครื่องบินชนิดเบรเกต์ (Breguet 14B) ของกรมอากาศยานสำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆเป็นจำนวน 9 เครื่องว่า มณฑลร้อยเอ็ด 1 – 9

นอกจากจะมีเครื่องบินมณฑลประจำมณฑลร้อยเอ็ดทั้ง 9 ลำแล้ว ยังมีเครื่องบินอีกลำหนึ่งที่สำหรับใช้ในกิจการไปรษณีย์และการอื่นๆลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดา มีชื่อว่า ขัติยะนารี จากบันทึกในหนังสืออดีตรำลึก ของคุณแม่บุญมี คำบุศย์ ที่จัดพิมพ์แจกในงานวันเกิดครบ 7 รอบเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 บันทึกไว้ว่า

หน้าที่หลักของเครื่องบินก็คือเดินเมล์อากาศจากกรุงเทพฯ โคราช ร้อยเอ็ด นครพนม มหาสารคาม อุบลราชธานีและอุดรธานี ข้าพเจ้าเคยเห็นเครื่องบินพยาบาลมาลงที่สนามบินเป็นสีขาวมีกากบาทสีแดง ลำใหญ่กว่าเครื่องบินธรรมดาชื่อ ขัติยะนารี ในว่าบริจาคโดยแม่หญิงขอนแก่นนำโดยคุณหญิงภรรยาผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนชักชวนเรี่ยไร”

ในเดือนมิถุนายน ปี พ.ศ.2465 กรมอากาศยานร่วมมือกับกรมไปรษณีย์โทรเลข เปิดสายการเดินอากาศไปรษณีย์ สายที่1 เป็นการทดลองในเส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตามพระดำริของเสนาธิการทหารบก โดยเครื่องบินที่ใช้ทำการขนส่งพัสดุทางอากาศคือเครื่องบินชนิดเบรเกต์ โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2465 เวลา 8.00 น.เครื่องบินเครื่องที่ 1 ออกจากนครราชสีมาไปยังมหาสารคามและร้อยเอ็ด เครื่องบินแต่ละเครื่องดังกล่าวได้บินต่อไปยังอุบลราชธานีและนครราชสีมาตามลำดับ

ต่อมากรมไปรษณีย์โทรเลขจึงได้ประกาศเปลี่ยนจากการทดลองเป็นการเดินอากาศไปรษณีย์ประจำ จึงมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา “คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์ และจังหวัดมหาสารคาม” แจ้งความ ณ วันที่  24  มิ.ย. 2465 (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา คำแถลงการณ์ของกรมเสนาธิการทหารบก เรื่อง สนามบินสำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์และจังหวัดมหาสารคาม. เล่มที่ 39 หน้า 902- 903 วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2465) และเริ่มใช้งานการเดินอากาศประจำตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466

ต่อมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2466 กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลขได้เปิดการเดินอากาศไปรษณีย์สายที่ 2 ระหว่างจังหวัดนครราชสีมา มหาสารคาม ร้อยเอ็ด อุดรธานีและหนองคาย โดยเริ่มเที่ยวบินแรกในวันที่ 3 ธันวาคม 2466

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

นเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2469 จอมพล สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสด็จมาตรวจราชการที่มณฑลภาคอีสานและมณฑลนครราชสีมา พระองค์ได้ทรงเสด็จโดยเครื่องบินจากจังหวัดนครราชสีมามาลงที่สนามบินจังหวัดมหาสารคาม ดังในรายงานตรวจราชการมณฑลภาคอีสานและนครราชสีมา ส่วนว่าด้วยการเมืองและการพรรณนาทั่วไปในเดือนธันวาคม พ.ศ.2469 ว่า

“…แทนที่จะไปมัวเดินทางเกวียนอยู่ตั้ง 10 วัน ทั้งมีนิยมว่าในการที่จะถือเงินทองจำนวนมากไปมา ไปทางเครื่องบินเป็นที่ปลอดภัยดีกว่าไปทางเกวียน มีข้อแปลกประหลาดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ในภาคอีสานนี้ราษฎรรู้จักเครื่องบินก่อนรถยนต์ เพราะเครื่องบินได้ขึ้นมาแสดงตั้งแต่ พ.ศ. 2465แล้ว ไม่ช้านักก็เดินอากาศไปรษณีย์ แต่รถยนต์เพิ่งได้มีขึ้นมาเป็นครั้งแรกต่อใน พ.ศ. 2466…” (กองจดหมายเหตุแห่งชาติ. เอกสารส่วนบุคคล. สบ. 2.47/69 บันทึกรายงานเสด็จตรวจราชการมณฑลภาคอีสานของจอมพล สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ากรมนครสวรรค์วรพินิต. 2470)

เมื่อพระองค์ได้ทรงเสด็จโดยเครื่องบินมาลงจอดที่สนามบินมหาสารคามแล้ว เหล่าข้าราชบริพารประชาชนชาวจังหวัดมหาสารคาม ถวายต้อนรับเสด็จกันอย่างเนืองแน่น แล้วพระองค์ก็ได้เสด็จขึ้นรถยนต์พระที่นั่งต่อไปยังจังหวัดร้อยเอ็ด ประชาชนชาวเมืองมหาสารคามได้เดินเท้าส่งเสด็จพระองค์ถึงบ้านส่องนางใย

ในปี พ.ศ. 2468 มีการสร้างสนามบินมหาสารคามแห่งที่ 2 ขึ้น มหาเสวกโท พระยารณชัยชาญยุทธ สมุหเทศาภิบาลมณฑลร้อยเอ็ดได้ดำริการสร้างสนามบินระหว่างทางสายอากาศไปรษณีย์ เป็นสนามบินสำรองของทางราชการขึ้น กรมการอำเภอพยัคฆภูมิพิสัยและกรมการอำเภอวาปีปทุม จึงได้พาประชาชนในท้องที่ทั้ง 2 อำเภอ ตัดถางวัชพืชทำความสะอาดและก่อสร้างสนามบินขึ้นที่สนามทางทิศใต้ของบ้านยางศรีสุราช ต.ดงบัง อ.พยัคฆภูมิพิสัย (ปัจจุบันคือบ้านยาง อำเภอยางสีสุราช จังหวัดมหาสารคาม) เพื่อใช้เป็นสนามบินสำรองของทางราชการ “ดังประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 17 พฤษภาคม 2468 เล่ม 42 หน้า 456  แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ว่าทางกระทรวงกลาโหมได้รับสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย เพื่อเป็นสนามบินสำรองของทางราชการเอาไว้ใช้ในราชการเรียบร้อยแล้ว” (หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. ราชกิจจานุเบกษา แจ้งความกระทรวงกลาโหม เรื่องสนามบินตำบลดงบัง อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เล่ม 42 หน้า 456  วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2468)

แต่จากเอกสารหลักฐานของทางราชการและจากคำบอกเล่าของคนท้องถิ่น ไม่ปรากฏว่ามีเครื่องบินเดินอากาศไปรษณีย์ได้ไปใช้และลงจอดฉุกเฉินที่สนามบินแห่งนี้เลย และหลังจากที่สร้างสนามบินสำรองนี้ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาที่ไม่นาน กิจการการเดินอากาศไปรษณีย์ของทางราชการก็ได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2472

ปี พ.ศ. 2472 เมื่อกรมรถไฟหลวงได้เปิดเดินรถไฟสายจังหวัดนครราชสีมา-อุบลราชธานีขึ้น การคมนาคมระหว่างจังหวัดทั้งสองพ้นจากความกันดาร ไปรษณีย์ส่งไป-มาได้ทุกวัน กรมอากาศยานและกรมไปรษณีย์โทรเลข จึงได้เลิกการบินไปรษณีย์สายที่ 1 เส้นทางจังหวัดนครราชสีมา-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-อุบลราชธานี ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2472 เป็นต้นมา

ต่อมาปี พ.ศ. 2474 เมื่อกรมอากาศยานได้รับคำสั่งจากกระทรวงกลาโหม ให้เลิกกิจการการบินไปรษณีย์และมอบให้กระทรวงพานิชย์และคมนาคมดำเนินการต่อไป ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2474 จากนั้นมาสนามบินในมณฑลร้อยเอ็ด รวมถึงของจังหวัดมหาสารคาม ก็ไม่ได้ใช้งานกิจการการบินไปรษณีย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ในปี พ.ศ. 2499 ช่วงสงครามเวียดนาม ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาได้นำเครื่องบินมาลงจอดฉุกเฉินและทิ้งไว้ที่สนามบินเก่ามหาสารคาม (ถ่ายภาพโดย Kermit Krueger อาสาสมัครสันติภาพสหรัฐฯ ในวิทยาลัยฝึกอบรมครูมหาสารคามตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 – 2508 ภาพจาก http://isaanrecord.com/en/2016/05/?print=print-search)

เมื่อปี พ.ศ. 2502 ได้ใช้พื้นที่ของสนามบินเก่าก่อตั้งสนามม้าขึ้น โดยมีนายเกศ วงศ์กาไสย ขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม เป็นเจ้าของสนามม้าแห่งแรก ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 สนามม้าได้ย้ายไปอยู่พื้นที่บริเวณริมถนนมหาสารคาม – วาปีปทุม (ปัจจุบันได้เป็นโกลบอลเฮาส์มหาสารคาม) และได้เลิกกิจการไปในปี พ.ศ. 2540

วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม ก่อตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2511 บนพื้นที่ 197 ไร่ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะขยายการศึกษาชั้นสูงไปสู่ภูมิภาค ทางกองทัพอากาศจึงได้โอนพื้นที่ราชพัสดุสนามบินเก่าทั้งสิ้น 197 ไร่ให้เป็นพื้นที่ของวิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม และต่อมาได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาสารคาม เมื่อปีพุทธศักราช 2517 และได้แยกตัวเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศภายใต้ชื่อ “มหาวิทยาลัยมหาสารคาม” เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537

ต่อมาทางคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ใช้พื้นที่สนามเก่าเป็นพื้นที่ก่อสร้างอาคารศูนย์บริการทางแพทย์ฯ ของคณะแพทยศาสตร์ เพื่อให้บริการด้านการรักษาโรคและป้องกันโรค รวมไปถึงบริการทางด้านสาธารณสุขแก่นิสิตและประชาชนทั่วไป รวมทั้งเป็นที่ฝึกฝนประสบการณ์ของนิสิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย ได้เปิดให้บริการด้านการแพทย์เมื่อปี พ.ศ. 2555


ภาพมุมสูงของพื้นที่ส่วนหนึ่งของสนามบินเก่า ปัจจุบัน คือ โรงพยาบาลสุทธาเวช

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดโรงพยาบาลสุทธาเวช ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานชื่อว่า “โรงพยาบาลสุทธาเวช” หมายถึง โรงพยาบาลซึ่งพร้อมด้วยการแพทย์อันดีงาม พร้อมกับพระราชทานพระราชานุญาตให้เชิญอักษรพระนามาภิไธย “ส.ธ.” ประดับที่ป้ายชื่อโรงพยาบาลอีกด้วย

ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com/history/article_7628

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

Breaking News

ดึงงบฯกลาง 2 พันล้าน ช่วยค่าไฟกลุ่มเปราะ

Published

on

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading

Breaking News

ป.ป.ช. แจงฟัน ‘ครูชัยยศ’ ไม่ใช่ปมแบ่งข้าวนักเรียนยากจน

Published

on

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading

Breaking News

ลุ้น! เคาะ “ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” ทุกจังหวัด พรุ่งนี้

Published

on

(เพิ่มเติม…)

Continue Reading

Trending

Copyright © 2023 katipnews.com กระติบนิวส์ best counter