สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สธ. ผลักดันผลิตแพทย์อีก 2.5 หมื่นคน กระจายลง รพ.สต.แห่งละ 3 คน คาดใช้เวลา 12 ปี กว่าจะครบทุกจังหวัด ลงทุนราว 1 แสนกว่าล้าน
วันที่ 20 ก.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สธ. กล่าวภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ.ครั้งที่ 9/2566 ว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ตนได้เสนอนโยบายเพิ่มเติมให้ผู้บริหารสธ.รับทราบ และช่วยผลักดันคือ ประเด็นพื้นที่ต่างจังหวัดเรามีรพ.สต. มีการจัดตั้งมาหลายปีแล้ว จนถึงทุกวันนี้ยังไม่มีแพทย์ประจำ
ในตำบลเหล่านี้มีความใกล้ชิดประชาชนในชนบทอย่างมาก จะสามารถลดต้นทุนการเดินทางไปรักษา ซึ่งเดี๋ยวนี้สิทธิ 30 บาทก็รักษาฟรีทุกโรค รวมถึงมะเร็ง เป็นนโยบายที่ดีเลิศมาหลายสิบปีแล้ว แต่เวลาเข้าถึงบริการไปพบแพทย์ ไปตรวจที่อำเภอ จังหวัดมีความยากลำบาก ใช้ต้นทุนสูงมากในการเดินทาง ต้องจ้างเหมารถไปรอคอย
เพราะฉะนั้นเรามีรพ.สต. แต่ยังไม่มีแพทย์ประจำ จึงเสนอในที่ประชุมให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลิตแพทย์ให้ได้รพ.สต.ละ 3 คน ซึ่งรพ.สต.ทั้งประเทศมีประมาณ 8,500 แห่ง หากจะคำนวณก็ประมาณ 2.5 หมื่นคนแม้จะผลิตแพทย์ทันทีแต่กว่าจะได้ก็ต้องใช้เวลาผลิต 6 ปี
“การสนับสนุนเงินทุนเรียนแพทย์ คนละประมาณ 4 ล้านกว่าบาท รวมแล้วจะต้องลงทุนประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และกว่าคนจะจบและกระจายไปทุกจังหวัดก็ปาไป 12 ปี จึงเป็นความจำเป็นที่จะกระจายเรื่องการรักษาพยาบาลลงไปในท้องถิ่นให้จงได้ วันนี้ได้บอกกับผู้บริหารว่านโยบายนี้มีความจำเป็น ให้ผู้บริหารช่วยกัน มันเป็นเรื่องยาก ถ้าเราช่วยกันผลักดัน ปีหนึ่งใช้เงินประมาณหมื่นกว่าล้าน” นายสันติกล่าว
ด้าน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สธ. กล่าวว่า สธ.เราก็รับข้อเสนอนี้จะนำไปสู่การพูดคุย โดยเฉพาะในเวทีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติที่จะมีทุกหน่วยทุกฝ่ายเข้ามาตรงนี้ และนำประเด็นตรงนี้ระบบการผลิตที่สอดคล้องเหมาะสมตามที่ท่านเสนอควรจะเป็นไปอย่างไรก็จะไปหารือในตรงนั้น และสอดรับกับนโยบายการให้บริการปฐมภูมิ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าจะต้องมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเข้าไปดูแล
กลไกนี้ถ้าเรายังผลิตแพทย์ไม่ทันก็จะมีการชดเชย ด้วยระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย อาจจะมีเทเลเมดิซีนซึ่งเทคโนโลยีถึงแล้วคือ Virtual Hospital รพ.เสมือนจริงที่อยู่ในชุมชนและมีแพทย์ด้วย อาจจะเข้ามาทดแทนก่อน
ข่าวจาก: ข่าวสด